แพทย์แนะวิธี 3 ส. กักตัว 14 วัน ลดจิตโคม่า ไม่ป่วยภาวะซึมเศร้า

จิตแพทย์ แนะหลัก 3 ส. กักตัวเอง 14 วัน ลดเสี่ยงภาวะซึมเศร้า ไม่ให้ความกังวลเป็น “อๅวุธ” ทำร้ายใจ เสริมวิธีเสพข่าวสถานการณ์โควิด-19 ให้สุขภาพจิตดี

ช่วงนี้สถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัส “โควิด-19” ทวีความรุนแรงไปหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย จำนวนผู้ติดเชื้อ Covid-19 ล่าสุดเพิ่มขึ้นทะลุหลักพัน หลายคนยิ่งวิตกกังวลมากขึ้น เฝ้าถามตัวเองวันละหลายครั้ง “ฉันติดโควิดหรือยัง”

Social Distancing หรือ ระยะห่างทางสังคม คือวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ดีที่สุด โรคติดต่อจะไม่ติดต่อ ถ้าเราไม่ติดต่อกัน รวมถึงการกักตัวเอง 14 วัน ในผู้มีความสุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะคนเดินทางจาก กทม. กลับไปบ้านเกิด หลังสถานที่สุ่มเสี่ยงหลายจุดหยุดนานเกือบเดือน

เมื่อต้องกักตัวเองจริง ๆ 14 วัน สิ่งที่จะตามมาคือความเครียด และกังวล เราจะมีวิธีป้องกันอย่างไร SATURDAY SHARES วันนี้ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์มีคำแนะนำจาก นพ.อภิชาติ จริยาวิลาศ จิตแพทย์ รพ.ศรีธัญญา และโฆษกกรมสุขภาพจิต

• วิธีกักตัวเอง 14 วัน ไม่เป็น “อๅวุธ” ทำร้ายใจ

เพื่อความเข้าใจที่เป็นประโยชน์ นพ.อภิชาติ ให้ข้อมูลว่า มนุษย์หากมีการเปลี่ยนแปลงสิ่งใดในการใช้ชีวิต กักตัวเอง 14 วัน หรือทำสิ่งใดที่ไม่เคยทำ ความรู้สึกแรกที่เกิดคือ “ความกังวล” เพราะรู้สึกสูญเสียอิสรภาพ อีกทั้งเกิดคำถามต่าง ๆ เกิดขึ้น จะอยู่ได้ไหม จะทำอะไร จะกินอยู่อย่างไร

ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้ถือเป็นเรื่องปกติ แต่ความกังวลจะไม่ทำร้ายตัวเราเอง หากมีความกังวลที่พอเหมาะพอดี ไม่มากเกินไปก็จะเปลี่ยนเป็นพลังช่วยให้เกิดการเรียนรู้และดูแลตัวเอง และสักพักจะรู้สึกดีขึ้นเพราะร่างกายปรับตัวได้

จากประสบการณ์ที่ นพ.อภิชาติ ได้คุยกับผู้ที่เคยกักตัวเอง 14 วัน การกักตัวเองไม่ได้แย่อย่างที่หลายคนรู้สึกกังวล และเวลา 14 วันผ่านไปเร็วกว่าที่คิด แต่หากมีความกังวลที่มากเกิน จะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตด้านต่าง ๆ ทำให้กินไม่ได้ นอนไม่หลับ จากเดิมที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว อาการอาจเป็นหนักขึ้น หรือมีโรคใหม่เกิดขึ้นกับร่างกายได้

“กิจกรรมต่าง ๆ ทำได้ปกติ เพียงแต่ไม่ออกไปในที่สาธารณะ พอได้อยู่บ้าน 14 วัน จะรู้ว่าไม่ได้แย่อย่างที่คิด ข้อดีค่อนข้างเยอะ ได้ดูแลตัวเองในทุก ๆ เรื่อง อาหารการกิน การพักผ่อน แต่หากรู้สึกเครียด เบื่อ ให้คุยกับคนในครอบครัว หรือโทรคุยกับคนที่ไว้ใจ และหากิจกรรมอื่น ๆ ทำ”

• วิธี “เสพสื่อ” กักตัวเอง 14 วัน เพื่อ “สุขภาพจิตที่ดี”

อย่างไรก็ตาม เมื่อรู้สึกไม่มีความสุข กังวลมากจนจมอยู่กับความทุกข์ นอกจากให้รีบบอกกล่าวผู้อื่น อีกช่องทางหนึ่งคือการโทรปรึกษาสายด่วน 1323 ของกรมสุขภาพจิตที่ช่วยคลายกังวลได้ตลอด 24 ชม.

นอกจากนี้ นพ.อภิชาติ แนะนำเพิ่มเติมซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการกักตัวเอง 14 วันเพื่อให้สุขภาพจิตดีคือ “การรับข้อมูลข่าวสาร” ต้องเลือกรับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง อย่าเชื่อข่าวลวง เฟกนิวส์ ควรเชื่อถือได้จากภาครัฐเป็นการดีและปลอดภัຍที่สุด

นอกจากนี้ควรลดจำนวนชั่วโมงในการรับสื่อ การเสพข่าวมากเกินทำให้เกิดความเครียดสูง สิ่งสำคัญควรหลีกเลี่ยงการпดไลค์ กดเเชร์ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง เพราะจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกและความคิดด้านลบมากขึ้น จนเกิดความเครียดสะสมจนอาจจะเกิด “ภาวะเสี่ยงซึมเศร้า” ได้

“อีกสาเหตุที่ทำให้รู้สึกตื่นตระหนก กังวลมาก เพราะเสพข่าวมากเกิน ควรเลือกรับฟังข่าวสารอย่างพอเหมาะ จำกัดเวลาเสพข่าว บริหารเวลาตัวเองไปใช้ด้านอื่น ๆ เช่น ออกกำลังกาย ดูแลสุขภาพ ทำงานอื่น ๆ ที่พอเหมาะในบ้าน ใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ในการติดต่อสื่อสารผู้อื่น หากิจกรรมทำแต่ละวัน เวลาก็จะผ่านไปรวดเร็ว”

• หลัก 3 ส. ดูแลคนกักตัว 14 วัน ลดจิตโคม่า เสี่ยง “ภาวะซึมเศร้า”

การดูแลสุขภาพทั้งสุขภาพกายและ “สุขภาพใจ” ของผู้กักตัวเอง 14 วันให้แข็งแรงควบคู่กัน นพ.อภิชาติ บอกกับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ว่า ญาติและผู้ใกล้ชิดก็สามารถช่วยดูแลได้ เพื่อป้องกันการเกิด “ภาวะซึมเศร้า” ตามหลัก 3 ส. ของกรมสุขภาพจิต ดังนี้

• สอดส่อง

ญาติและคนใกล้ชิด ต้องคอยสอดส่องว่าผู้กักตัวเองมีภาวะวิตกกังวล มีความเครียดสูงหรือไม่ โดยสังเกตจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป หากมีความคิดหมกมุ่น กินไม่ได้ นอนไม่หลับ หวาดกลัว กังวลไปเสียทุกเรื่อง เหล่านี้เป็นสัญญาณบ่งบอกว่ามีความเครียดสูง หรือภาวะซึมเศร้า

• ใส่ใจ

เมื่อสอดส่องจนพบว่าผู้กักตัวเองเครียด ญาติและคนใกล้ชิด ต้องสื่อสารพูดคุย ถามความรู้สึกและรับฟังด้วยความห่วงใย ให้กำลังใจโดยปราศจากอคติ และควรใช้คำพูดที่ดี ให้เข้าใจถึงความเป็นห่วง

และอย่าโกรธหากผู้กักตัวไม่ทำตามคำแนะนำเรื่องการป้องกันตัวเองในการแพร่เชื้อ อย่าพูดห้ามทำอย่างนั้น ห้ามทำอย่างนี้ แต่ควรพูดด้วยการใช้เหตุใช้ผล เพื่อให้เกิดความสบายใจขึ้น

• ส่งต่อ

หากพูดคุยแล้ว แต่ผู้กักตัวเองยังรู้สึกเครียด อาการยังไม่ดีขึ้น ปัญหายังไม่หมด ควรรีบติดต่อหน่วยบริการใกล้บ้าน หรือโทรสายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือ รพ.สต. เพื่อรีบส่งตัวไปปรึกษาขอความช่วยเหลือจากจิตแพทย์

“ผู้ไม่กักตัวเอง 14 วัน บางคนอาจประมาท หรืออาจยังไม่ทราบถึงความสำคัญ หลังมีประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ช่วยให้หลายคนตระหนักถึงความสำคัญของการเว้นระยะห่างและการป้องกันการติดต่อมากขึ้น” จิตแพทย์ รพ.ศรีธัญญา และโฆษกกรมสุขภาพจิต กล่าว

แหล่งที่มา: thairath

เรียบเรียงโดย baansuann.com