5 สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่หลายคนอาจไม่รู้ และใกล้ตัวกว่าที่คิด

เชื่อว่ามาถึงวันนี้ ความรู้เกี่ยวกับเจ้าเชื้อ โควิด-19 ยังคงมีให้ค้นหา และเป็นประโยชน์ต่อผู้คนเสมอ แม้นานวันยอดสะสมผู้ติดเชื้อ และผู้เสียชีวิตจะยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

แต่เราก็ได้ความรู้ทางสาธารณสุขเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย อย่างที่ นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวงสาธารณสุข (10) โพสต์ข้อมูลพื้นฐานที่คนไทยควรรู้ เกี่ยวกับโรค โควิด-19 มี 5 เรื่องสำคัญ ดังต่อไปนี้

เรื่อง 1 : เชื้อโควิด-19 มีอายุเท่าไหร่

เชื้อไวรัสโควิด-19 โดยทั่วไปจะสามารถอยู่ในสภาพแวดล้อม ประเทศไทยอากาศร้อน จึงสามารถอยู่ได้ ~ 6 ชั่วโมง และสูงสุด ~ 24-72 ชั่วโมง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับลักษณะพื้นผิว และอุณหภูมิ หากอุณหภูมิสูงก็จะทำให้เชื้อมีอายุที่สั้นลง

เรื่องที่ 2 : อาการของโรคโควิด 19

มีความแตกต่างของอาการ โควิด-19 ในเด็กและผู้ใหญ่ คือ ผู้อายุน้อยจะมีอาการน้อยกว่า

สำหรับผู้อายุน้อย
– ร้อยละ 42 จะมีอาการไข้
– ร้อยละ 49 มีอาการไอ
– ร้อยละ 8 มีน้ำมูก
– ร้อยละ 7 มีอาการอ่อนเพลีย

สำหรับผู้ใหญ่
– ร้อยละ 89 จะมีอาการไข้
– ร้อยละ 68 มีอาการไอ (อาการหลักที่สำคัญ)
– ร้อยละ 14 จะมีอาการเจ็บคอ
– ร้อยละ 15 มีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
– ร้อยละ 5 มีน้ำมูก
– ร้อยละ 38 มีอาการอ่อนเพลีย

เรื่องที่ 3 : ใครบ้างที่เสี่ยง เสี่ยงแค่ไหน

หากมีอาการของปอดอักเสบจะเริ่มแสดงอาการ เหนื่อย หอบ หายใจเร็วและลำบาก ซึ่งช่วงอายุมีผลต่ออัตราการเสียชีวิตดังนี้

– กลุ่มอายุ 10-19 ปีมีโอกาสต่ำมาก
– กลุ่มอายุ50-59 ปี มีโอกาสเสี่ยงสูง
– กลุ่มอายุ 80 ปีขึ้นไปมีโอกาสเสียชีวิตสูงมาก
(หากมีผู้ป่วยช่วงอายุนี้ 100 คน จะมีอัตราเสียชีวิตถึง ~ 15 คน

โดยกลุ่มเสี่ยงในการติดเชื้อ โควิด-19 และมีอาการรุนแรงสูงกว่าคนทั่วไปและเสี่ยงต่อการเสียชีวิต ได้แก่

– ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี
– ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ โรคประจำตัว เช่น โรคหลอดเลือดสมอง/หัวใจ อัมพาต โรคไตวายเรื้อรัง โรคถุงลมโป่งพอง โรคอ้วน โรคตับแข็ง โรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ และรวมไปถึงคนอ้วน (ผู้ที่มีดัชนีมวลมากกว่า 35 กก/ต่อตารางเมตร)

เรื่องที่ 4 : คนติดเยอะ คนตายแยะ เป็นโรคร้ายแรง?

แน่นอนว่าความรุนแรงของเชื้อ โควิด-19 แสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยติดเชื้อทุกคนไม่ได้มีอาการที่รุนแรงมากนัก ในผู้ติดเชื้อ 100 คน พบว่า 80 เป็นผู้ป่วยมีอาการน้อยถึงน้อยมาก สามารถหายได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องรับยาต้านไวรัส และ 30 คนใน 80 คน เป็นการติดเชื้อ และมีภูมิคุ้มกันแต่ไม่มีอาการ นับว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่หากจะดีที่สุดคือการไม่ติดเชื้อเลย

และในผู้ติดเชื้อ โควิด-19 100 คน พบว่า 20 คน เป็นผู้ป่วยที่อาจจะต้องเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล และ 5 คนใน 20 คน จะมีอาการรุนแรงและจะต้องได้รับการรักษาพยาบาลในกรณีพิเศษ

เรื่องที่ 5 : วิธีป้องกันตัวจาก โควิด-19

ขอให้แบ่งง่ายๆ เป็น 2 กลุ่ม

กลุ่มผู้ป่วย (ที่มีอาการคล้ายไข้หวัด) ต้องสวมหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ซึ่งสามารถลดการแพร่กระจายของละอองเชื้อได้ถึงร้อยละ 97 เนื่องจากปริมาณละออง ความเร็ว ระยะทางที่เคลื่อนที่ไปได้จะลดน้อยลง ล้างมือ และทบทวนประวัติเสี่ยง โควิด-19 ไปพบแพทย์ “ต้องเล่าความจริงทั้งหมด”

ผู้ที่ยังไม่ป่วย แนะนำให้สวมหน้ากากชนิดผ้า เพื่อป้องกัน รวมถึงการทำความสะอาดพื้นผิวด้วยการเช็ดน้ำยาฆ่าเชื้อต่างๆ และหลีกเลี่ยงการนำมือสัมผัสใบหน้าบ่อยๆ และหมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ

อ้างอิงจาก : กรุงเทพธุรกิจ
เรียบเรียงโดย : หลิวหล่าวซือ