ธนาธร พาชมโรงงาน ประกาศ พร้อมช่วยผลิตอุปกรณ์การแพทย์ให้โรงพยาบาลฟรี

บริษัทจรูญรัตน์เอนจิเนียริ่ง จำกัด นาย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำคณะก้าวหน้า และอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ นำสื่อมวลชนเยี่ยมชมการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID 19 เพื่อมอบให้แก่โรงพยาบาลที่แสดงความประสงค์ต้องการใช้อุปกรณ์

โดยไม่มีค่าใช้จ่าย 2 รายการ คือ 1. เตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแรงดันลบ (Patient Transportation Chamber) เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส ในระหว่างเคลื่อนย้ายจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง ต้นทุนประมาณ 40,000 บาท และห้องตรวจโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจชนิดเฉียบพลัน (Modular ARI Clinic) ประกอบด้วยห้องปฏิบัติการแรงดันบวก สำหรับบุคคลากรทางการแพทย์ด้านหนึ่ง และห้องความดันลบสำหรับผู้เสี่ยงติดเชื้อ ผู้ถูกตรวจอีกด้านหนึ่ง ในรูปแบบที่ยกมาติดตั้งและถอดออกได้อย่างสะดวก ต้นทุนประมาณ 600,000 บาท

นายธนาธร กล่าวว่า ตนเองได้รับการติดต่อจาก ศิษย์เก่าวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ทำงานกับคณะแพทย์ ให้ร่วมผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ เนื่องจากเห็นว่าตนมีศักยภาพในการผลิต จึงได้ใช้ข้อมูลจากเพจ Open Source Covid Thailand และคณะแพทยศาสตร์ วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ที่เปิดให้สาธารณะผลิตและออกแบบ โดยร่วมมือกับ 3 บริษัทเอกชนที่ร่วมสนับสนุนในการผลิตได้แก่ บริษัท จรูญรัตน์เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด บริษัทซัมมิท โอโต บอดี้ อินดัสตรี จำกัด และ กลุ่มบริษัทโอ.อี.ไอ พาร์ท จำกัด ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านการอุตสาหกรรมระดับโลก เป็นการผลิตตามความความต้องการของแต่ละโรงพยาบาล

เบื้องต้นมีโรงพยาบาล 12 แห่งทั่วประเทศที่แสดงความประสงค์ขอรับอุปกรณ์ทางการแพทย์ดังกล่าว แบ่งเป็นเตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแรงดันลบจำนวน 18 ชุด และห้องตรวจโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจชนิดเฉียบพลัน จำนวน 11 ชุด โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น เพื่อช่วยโรงพยาบาลรับมือการแพร่ระบาดของ Covid 19 และอำนวยความสะดวกแก่บุคคลากรด้านสาธารณสุข ให้การทำงานมีประสิทธิภาพและเป็นขวัญกำลังใจให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ที่จะต้องสัมผัสกับผู้ป่วย

นายธนาธร กล่าวว่า วิกฤตครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจของภาคเอกชนที่ไม่หวังผลกำไร และหลักสามารถควบคุมการระบาดของ Covid 19 ได้แล้ว อุปกรณ์เหล่านี้ยังสามารถรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้ออื่นๆได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยวัณโรค ทั้งนี้ในวันที่ 24-26 เมษายนนี้ จะส่งมอบอุปกรณ์ดังกล่าวให้โรงพยาบาลยะลา

และโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จังหวัดนนทบุรี เป็น 2 โรงพยาบาลแรกเนื่องจากมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องการอุปกรณ์ทางแพทย์เพราะมีผู้ป่วยติดเชื้อจำนวนมาก ส่วนโรงพยาบาลอื่นจะทยอยส่งมอบในวันที่ 2 และ 3 พฤษภาคม 2563

ด้านนายนพพล ชัยจรูญรัตน์ กรรมการผู้จัดการ กล่าวเสริมว่า ดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือสังคม ซึ่งการผลิตอุปกรณ์การแพทย์ถูกออกแบบมาเพื่อใช้งานได้จริงทำให้แพทย์ พยาบาล รวมทั้งบุคลากรการแพทย์จากการแพร่เชื้อ

สำหรับ 12 โรงพยาบาลที่ร่วมโครงการประกอบด้วย โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี โรงพยาบาลชลบุรี โรงพยาบาลพุทธโสธร จ.ฉะเชิงเทรา โรงพยาบาลสันทราย จ.เชียงใหม่ โรงพยาบาลสนามศูนย์โควิด 19 จ.เชียงใหม่ ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ เชียงใหม่

โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต โรงพยาบาลสนาม ม.อ.สงขลา วิทยาเขตภูเก็ต โรงพยาบาลยะลา โรงพยาบาลยะรัง จ.ปัตตานี โรงพยาบาลสงขลา โรงพยาบาลคลองหอยโข่ง จ.สงขลา และโรงพยาบาลกงหรา จ.พัทลุง

แหล่งที่มา : matichon, siamnews.com