ทุกอย่างอยู่ที่ใจ!! ปลูกมะกรูด 1 ไร่ เก็บใบขาย สร้างรายได้ 4 แสนบาทใน 3 เดือน

ขึ้นแท่นสมุนไพรเศรษฐกิจอีกชนิดสำหรับ “มะกรูด” เพราะสามารถทำรายได้ให้เกษตรกรเป็นกอบเป็นกำ เฉกเช่น มะกรูดตัดใบของ คุณศิวาวุธ สงวนทรัพย์ หรือ คุณเก่ง ชายหนุ่มวัย 35 ปี ไอดอลของเกษตรกรหลายคน เพราะเขาสามารถส่งสมุนไพรไทยชนิดนี้ไปประเทศญี่ปุ่น 1.5 ตันต่อเดือน ในราคากิโลกรัมละ 100 บาท ภายใต้ชื่อแบรนด์ “สวนมะกรูด บ้านคุณปู่”

คุณศิวาวุธ หรือ คุณเก่ง เล่าว่า หลังจากเรียนจบเคยทำงานอยู่ฝ่ายส่งออกชุดชั้นในแห่งหนึ่ง ทำได้ไม่นาน รู้สึกไม่ชอบลักษณะงานที่ต้องนั่งอยู่กับโต๊ะ เลยออกมาหุ้นกับเพื่อนเปิดผับเปิดได้ 3 ปี เริ่มสนใจอาชีพเกษตร

โดยเฉพาะมะกรูด เพราะคิดว่าปลูกง่าย ดูแลไม่ยาก เป็นพืชที่ขายง่าย ตลาดมีความต้องการทุกวัน น่าจะเหมาะกับเกษตรกรมือใหม่ แต่ทว่าทุกอย่างตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง มะกรูดปลูกยากกว่าที่คิด

“คุณพ่อซื้อที่ดิน ที่ตำบลดอนยายหอม อำเมืองเมือง จังหวัดนครปฐม ผมอยากใช้ที่ดินบริเวณนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเลยคิดจะปลูกพืช เบื้องต้นไปอบรมเรื่องการปลูกมะนาว ที่ ม.เกษตรศาสตร์

ในครั้งนั้นมีเรื่องมะกรูดตัดใบด้วย ผมเห็นว่ามะกรูดปลูกง่ายกว่ามะนาว ตลาดรับซื้อทุกวัน เลยลองปลูกมะกรูด พอปลูกจริง

พบว่าพืชสมุนไพรตระกูลส้มชนิดนี้ปลูกยากมาก อาศัยว่าไม่ท้อ ศึกษาอย่างจริงจัง ทั้งถามกูรู และหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ต หนที่สุดก็เอาชนะอุปสรรค สามารถขยับขยายกระทั่งปัจจุบันปลูกมะกรูด 10 ไร่”

อุปสรรคที่คุณเก่งพบ นั่นคือ “ศัตรูพืช” ชายหนุ่ม เผยว่า มีศัตรูพืชเยอะมาก ยกตัวอย่าง เพลี้ยไฟ หนอนชอนใบ หนอนใยผัก หนอนแก้ว เพลี้ยไก่แจ้ส้ม ไรแดง ตัวมวน เพลี้ยแป้ง แมลงหวี่ขาว แมลงค่อมเงิน ค่อมทอง เป็นต้น สำหรับวิธีแก้ไข ใช้วิธีสร้างโรงเรือน กางมุ้งป้องกันแมลง เบ็ดเสร็จลงทุนปลูกมะกรูดครั้งแรก 5.5 แสนบาท

สำหรับวิธีปลูก ชายหนุ่ม ใช้วิธีปลูกระยะชิด 50X50 ซม. ปลูกแบบสลับฟันปลา ระยะนี้ปลูกเต็มพื้นที่ 1ไร่ จะได้ 4,500 ต้น แปลงปลูกจะยกร่องกว้าง 1 แมตร แล้วปลูก 2 แถวบนร่อง

สาเหตุที่ยกร่องเพราะมะกรูดไม่ชอบน้ำขังและไม่ทนน้ำท่วม ส่วนของระบบน้ำ คุณเก่งใช้ระบบน้ำหยด โดยจ่ายน้ำชั่วโมงละ 1.5 ลิตร เปิดน้ำนานประมาณ 20-30 นาที และติดตั้งสปริงเกลอร์ไว้ด้านบนช่วยเพิ่มความชื้น 2-3 วัน รดน้ำ 1 ครั้ง

ในช่วงแรกของการปลูก เจ้าของสวน บอกว่า ต้องคอยระวังหนอนกัดยอดในช่วงใบอ่อน เพลี้ยไฟ ไรแดง บางครั้งมุ้งก็ไม่สามารถกันแมลงพวกนี้ได้ การจัดการแมลงใช้ชีวภัณฑ์

ถ้าระบาดหนักสร้างความเสียหายมาก จะใช้สารเคมีมาสลับก่อน แล้วจึงกลับมาใช้ชีวภัณฑ์ต่อ ช่วงฝนเจอปัญหารากเน่า มีบางต้นที่ตายก็จะปลูกซ่อมไป หลังจากลงปลูกแล้วประมาณ 6 – 8 เดือน ก็สามารถตัดกิ่งจำหน่ายได้

คุณศิวาวุธ เพิ่มเติมว่า หลังจากลงปลูกแล้วประมาณ 6 – 8 เดือน ก็สามารถตัดกิ่งจำหน่ายได้ แต่ทางสวน จะตัดเฉพาะใบขายเฉลี่ยเดือนละ 1.5 ตัน (บางเดือนก็ไม่ถึง) จำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 100 บาท 80 เปอร์เซ็นต์ส่งออกประเทศญี่ปุ่น 20 เปอร์เซ็นต์ขายในไทย

.

.

.

.

.

นอกจากใบมะกรูดแล้ว คุณศิวาวุธ ยังปลูกพืชผักเศรษฐกิจชนิดอื่น อาทิ มะละกอ พริกกะเหรี่ยง ข้าวโพดหวานทานได้เลย

เยี่ยมชมสวนได้ที่ : สวนมะกรูด บ้านคุณปู่