10 โรคเสี่ยงติดต่อทางน้ำลาย แค่ใช้หลอดดูดน้ำร่วมกัน !

  รู้หรือไม่ การใช้หลอดดูดน้ำร่วมกัน มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคติดต่อทางน้ำลาย  และอาจเสียชีวิตได้โดยไม่รู้ตัว !

          หลายคนคงจะคาดไม่ถึงว่าการใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น หลอดดูดน้ำ ช้อนส้อม หรือแค่ดื่มน้ำแก้วเดียวกับเพื่อน จะนำโรคติดต่อทางน้ำลายมาให้ได้หลายโรค และบางโรคก็เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตเลยทีเดียว ดังที่เคยปรากฏให้เห็นตามข่าวว่ามีคนเสียชีวิตจากเชื้อไวรัสตับอักเสบ ชนิดเอ จากการใช้หลอดดูดร่วมกับคนอื่น กระปุกดอทคอมเลยไม่อยากให้ทุกคนชะล่าใจ หยิบยกโรคที่ติดต่อกันได้ทางน้ำลายมาบอกต่อกันดัง ๆ คราวหน้าจะได้ระวัง ไม่เผลอใช้หลอดดูดน้ำหลอดเดียวกับใคร เพราะเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่า เขาหรือเราอาจมีเชื้อโรคอะไรอยู่ในตัว ป้องกันไว้ดีกว่านะคะ


โรคติดต่อทางน้ำลาย

          1. ไข้หวัด

          ไข้หวัดเป็นโรคที่ติดต่อกันได้ง่ายมากค่ะ แค่อยู่ใกล้คนเป็นหวัด หรือยิ่งดื่มน้ำแก้วเดียวกัน ใช้หลอดดูดน้ำร่วมกัน เราก็มีสิทธิ์รับเชื้อหวัดเข้าสู่ร่างกายได้แล้ว ถึงไข้หวัดธรรมดาจะไม่ใช่โรคที่ร้ายแรงมาก เพราะสามารถหายได้เองภายใน 5-7 วัน แต่ก็ต้องระวังกรณีรับเชื้อไข้หวัดใหญ่เข้ามา จะมีอาการรุนแรงมากกว่าและอาจเสียชีวิตได้จากโรคแทรกซ้อน ที่เราเคยได้ยินกันก็อย่างเช่น โรคไข้หวัดใหญ่ H1N1, โรคไข้หวัดนก  มาลองเช็กว่าอาการไข้หวัดใหญ่แตกต่างจากไข้หวัดธรรมดาอย่างไร เพื่อไว้สังเกตตัวเอง

          - ไข้หวัดใหญ่ อาการใกล้ตัวที่ไม่ใช่เรื่องเล็ก ย้ำให้ชัดว่าต้องระวัง
      โรคติดต่อทางน้ำลาย

          2. คออักเสบ (Strep throat)

          คออักเสบก็เป็นอีกหนึ่งโรคที่พบได้บ่อย หากเราใช้หลอดดูดน้ำหรือดื่มน้ำแก้วเดียวกับคนที่มีเชื้อแบคทีเรียกรุ๊ป เอ สเตรปโตคอกคัส ในน้ำลาย หรืออาจปนเปื้อนในน้ำมูกและเสมหะ ซึ่งเมื่อเราได้รับเชื้อสเตรปโตคอกคัสเข้าสู่ร่างกายโดยการคลุกคลี หรือใช้ของร่วมกับคนที่ป่วยเป็นโรคคออักเสบ เราจะมีไข้สูง ปวดศีรษะ หนาวสั่น เบื่ออาหาร เจ็บคอ  และจะเจ็บคอมากขึ้นตอนที่กลืนอาหาร ถ้าอ้าปากดูจะเห็นว่าต่อมทอนซิลแดง มีลักษณะคล้ายหนอง มีสีเหลือง ๆ ปกคลุมบนผิวของต่อมทอนซิล และหากลองจับต่อมน้ำเหลืองที่คอจะรู้สึกว่าบวม อย่างไรก็ตามโรคคออักเสบไม่ใช่โรคร้ายแรงอะไร  ส่วนใหญ่หายได้เองใน 7 วัน  แต่ถ้าไปหาหมอ หมอจะให้ยาปฏิชีวนะมากิน ซึ่งจะช่วยให้หายเร็วขึ้นภายใน 3 วัน

โรคติดต่อทางน้ำลาย
  
       3. โรคมือเท้าปาก  (Hand-foot-mouth disease)

          ได้ยินข่าวโรงเรียนประกาศหยุด 5-7 วัน หลังจากพบเด็กในโรงเรียนป่วยเป็นโรคมือเท้าปาก ก็อย่าชะล่าใจว่าโรคนี้เกิดขึ้นกับเด็ก ๆ เท่านั้น เพราะผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ มีสิทธิ์เป็นโรคมือเท้าปากได้ไม่ต่างกันค่ะ แค่เพียงดื่มน้ำแก้วเดียวกันกับเด็กหรือผู้ใหญ่ที่มีเชื้อ หรือแค่ไอ จามรดใส่กัน เราก็ติดเชื้อได้แล้ว

          อาการที่สังเกตเห็นได้เมื่อป่วยก็คือ จะเริ่มจากมีไข้ มีแผลในปากคล้ายแผลร้อนใน และมีผื่นขึ้นเป็นจุดแดง หรือเป็นตุ่มน้ำใสที่บริเวณ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ลำตัว แขน ขา ส่วนใหญ่อาการจะไม่รุนแรง สามารถหายได้เอง แต่ถ้าใครป่วยก็ควรหยุดเรียน หยุดงาน พักรักษาตัวที่บ้านประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อจะได้ไม่ไปแพร่เชื้อให้กับคนอื่น

          ทว่าหากติดเชื้อโรคมือเท้าปาก สายพันธุ์เอนเทอโรไวรัส (EV) 71 เคสนี้ค่อนข้างอันตราย เพราะเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนที่รุนแรงจนทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้นหากใครป่วยมือเท้าปากแล้วมีอาการซึม อ่อนแรง ชักกระตุก มือสั่น เดินเซ ต้องรีบไปพบแพทย์โดยด่วน มาเรียนรู้เรื่องโรคมือเท้าปากเพิ่มเติม เพื่อดูแลบุตรหลานและตัวคุณเองกันดีกว่า


          - โรคมือเท้าปาก กับ 12 คำถามชวนสงสัยที่ควรรู้คำตอบ !

          - เมื่อโรคมือเท้าปากทำคุณแม่นอนโรงพยาบาลกว่า 10 วัน ย้ำให้ระวังว่าผู้ใหญ่ก็เป็นได้ ! 

โรคติดต่อทางน้ำลาย

          4. คางทูม (Mumps) 

          โรคคางทูมก็เป็นอีกโรคหนึ่งที่พบบ่อยในเด็ก แต่ผู้ใหญ่ก็เป็นได้ โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสในกลุ่มพารามิกโซ (paramyxovirus) ทำให้ต่อมน้ำลายที่บริเวณกกหูอักเสบ คางจึงบวมโต จึงเป็นที่มาของชื่อโรคคางทูม ติดต่อกันได้โดยตรงจากการไอ จามใส่กัน รวมทั้งสัมผัสน้ำลายของคนที่ป่วยเป็นคางทูม เช่น การกินน้ำและอาหารโดยใช้ภาชนะร่วมกัน

          คนที่ป่วยคางทูมจะมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยเนื้อตัว เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย และปวดในรูหูหรือหลังหูขณะเคี้ยว กลืนอาหาร หรือแม้กระทั่งดื่มน้ำ หลังจากนั้นจะมีอาการบวมที่ข้างหูหรือขากรรไกรจนไม่สามารถเคี้ยวอาหารหรืออ้าปากได้ถนัด แต่ก็ไม่ใช่โรคที่ร้ายแรงนักค่ะ เพราะสามารถหายได้เองภายใน 7-10 วัน และเมื่อป่วยคางทูมแล้วครั้งหนึ่งก็จะมีภูมิคุ้มกันตลอดไป อย่างไรก็ดี โรคนี้สามารถป้องกันได้ตั้งแต่ยังเด็ก โดยการฉีดวัคซีนรวมเอ็ม เอ็ม อาร์ (MMR) ซึ่งสามารถฉีดได้ตอนอายุ 1 ขวบและต้องฉีดอีกครั้งตอนอายุ 7 ขวบ ว่าแล้วก็ลองมาเช็กอาการของโรคคางทูมให้ละเอียดกันอีกสักนิด

         - โรคคางทูม อาการบวมที่ควรระวัง
  
โรคติดต่อทางน้ำลาย
ภาพจาก Centers for Disease Control and Prevention

          5. โรคหูดข้าวสุก (Molluscum contagiosum)

          หูด มีอยู่หลายชนิด แต่ถ้าติดต่อจากการใช้ของส่วนตัวร่วมกับคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นแก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ผ้าเช็ดตัว รองเท้า ก็ต้องระวัง "หูดข้าวสุก" ให้ดีค่ะ โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัส  Molluscum contagiosum virus (MCV) ลักษณะเด่นคือ จะเป็นตุ่มเนื้อขนาดเล็ก มีสีเดียวกับผิวหนัง รูปโดม ผิวหูดเรียบเป็นมันคล้ายไข่มุก มีรอยบุ๋มตรงกลางคล้ายสะดือ เวลาบีบตุ่มออกจะได้สารสีขาวข้างในคล้ายข้าวสุก มักขึ้นตามลำตัว ท้อง แขน ขา รักแร้ ใบหน้า ดวงตา ขาหนีบ บริเวณอวัยวะเพศ แต่จะไม่รู้สึกคันหรือเจ็บ หากเรามีภูมิคุ้มกันดี โรคนี้จะหายไปได้เองภายใน 2-9 เดือน (เฉลี่ย 2-3 เดือน) แต่หากมีโรคแทรกซ้อนอาจใช้เวลานานเป็นปี

    โรคติดต่อทางน้ำลาย

          6. โรคเริมที่ปาก (Herpes Simplex)

          ตุ่มใส ๆ ที่ขึ้นบริเวณริมฝีปากและทำให้เรารู้สึก คัน ปวดแสบปวดร้อน ที่เรียกว่า เริม นั้นเกิดจากการติดเชื้อไวรัส  Herpes virus (HSV) ซึ่งเจ้าไวรัสที่ว่านี้จะแฝงอยู่ในน้ำลาย น้ำเหลือง หรือแม้กระทั่งอสุจิ และจะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางผิวหนัง เยื่อเมือกและเยื่อบุช่องปาก จากการดื่มน้ำแก้วเดียวกัน ใช้ของร่วมกัน รวมทั้งการจูบปาก

          ถ้าเป็นโรคเริมคุณจะหายได้เองภายใน 2 สัปดาห์  แต่หากมีอาการปวดมาก มีน้ำเหลืองไหลออกมาจากตุ่มแผล ระคายเคืองตา และมีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียล ควรไปพบแพทย์เพราะนั่นแสดงว่าตุ่มเริมนั้นเกิดการติดเชื้อแล้ว

         - คุณรู้จักโรคเริมดีแล้วหรือยัง มาเช็กอาการโรคเริมที่ปากอย่างละเอียด

          โรคติดต่อทางน้ำลาย

          7. ไวรัสตับอักเสบ (Hepatitis)

          ไวรัสตับอักเสบมีหลายสายพันธุ์ค่ะ ทั้งไวรัสตับอักเสบ เอ บี ซี ไปจนถึงไวรัสตับอักเสบ จี แต่ไวรัสตับอักเสบที่ติดต่อกันได้ทางอาหารและน้ำดื่มก็คือไวรัสตับอักเสบ เอ (Hepatitis A) และไวรัสตับอักเสบ อี (Hepatitis E) อาการของไวรัสตับอักเสบ เอ ที่สามารถสังเกตได้ก็คือ มีไข้ ตัวร้อน อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องบริเวณชายโครงขวา ท้องร่วง ปัสสาวะจะเริ่มมีสีเข้ม อุจจาระสีซีด และมีอาการตัวเหลือง ตาเหลืองที่เรียกว่าดีซ่าน

          ส่วนอาการของไวรัสตับอักเสบ อี นั้นก็จะเหมือนกับไวรัสตับอักเสบ เอ เพียงแต่จะมีอาการดีซ่านให้เห็นชัดเจนกว่า และถ้าเป็นโรคไวรัสตับอักเสบ เอและอี กว่าจะหายดีก็ต้องใช้เวลาประมาณ 1 เดือนเลยทีเดียว คุณคงไม่อยากป่วยเป็นเดือนเพียงเพราะเผลอไปใช้หลอดดูดหลอดเดียวกันกับคนอื่นหรอกนะคะ มาทำความเข้าใจโรคไวรัสตับอักเสบ เอ กันเถอะ

         -  ไวรัสตับอักเสบ เอ ดูดน้ำหลอดเดียวกันก็เสี่ยงติดเชื้อได้ง่าย ๆ 

คอตีบ

          8. คอตีบ (Diphtheriae)

    ถ้ามีไข้ต่ำ  ๆ เจ็บคอ เบื่ออาหาร ก็อย่าเพิ่งชะล่าใจไปนะคะว่าเป็นแค่หวัด เพราะอาจจะเป็นโรคคอตีบก็ได้ ซึ่งจะมีอาการร่วมกับไอเสียงดังก้อง กลืนอาหารลำบาก อาจหายใจติดขัด หอบ ชีพจรเต้นเร็ว ในรายที่มีอาการรุนแรง พิษจากคอตีบจะทำให้เกิดเนื้อตายเป็นแผ่นฝ้าในลำคอหรือหลอดลม ทำให้หายใจไม่ออก เสียชีวิตได้เลย ดังนั้นอย่านิ่งนอนใจเด็ดขาด เพราะโรคนี้แพร่จากอีกคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งได้ด้วยการไอ จาม การใช้สิ่งของร่วมกัน หรือสัมผัสกับเสมหะของคนที่เป็นโรคคอตีบหรือคนที่ติดเชื้อคอตีบ

          ถ้าตอนเด็ก ๆ คุณไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบมาก่อน ก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะป่วยโรคนี้เหมือนกันหากใช้หลอดดูดน้ำร่วมกับคนเป็นคอตีบ หรืออยู่ใกล้เด็กทารกที่ยังไม่เคยฉีดวัคซีน ดังนั้นเพื่อป้องกันโรคนี้คุณก็สามารถไปฉีดวัคซีนรวมคอตีบและบาดทะยักชนิดสำหรับเด็กโตและผู้ใหญ่ (Tdap) ไว้ได้ค่ะ หรือถ้าใครมีลูก ๆ หลาน ๆ ก็อย่าลืมพาพวกเขาไปฉีดวัคซีนป้องกันคอตีบ ซึ่งฉีดได้ตั้งแต่อายุ 2-3 เดือนเลย

         - โรคคอตีบ โรคติดต่อตัวร้าย ป้องกันได้ด้วยวัคซีน

ปวดหัว

          9. เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis)

          โรคที่มีอาการรุนแรงถึงขั้นหูหนวก ตาบอด เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตจนถึงแก่ชีวิตได้ อย่าง "เยื่อหุ้มสมองอักเสบ" ก็มีสาเหตุหนึ่งมาจากการสัมผัสและใช้สิ่งของร่วมกับคนป่วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นหลอดดูดน้ำ แก้วน้ำ ช้อนส้อม บอกให้รู้ว่าเราจะชะล่าใจไม่ได้เด็ดขาด โดยโรคนี้ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และรา เมื่อติดเชื้อจะมีไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง คอแข็ง คลื่นไส้อาเจียน ชัก ตาสู้แสงไม่ได้ หากรักษาไม่ทันอาจจะมีอาการรุนแรงดังที่บอกไปข้างต้น ทว่ายังมีโรคอื่น ๆ ที่มีอาการคล้ายกับโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบอยู่บ้าง ถ้าอย่างงั้นลองมาทำความเข้าใจโรคนี้ให้มากขึ้น เพื่อวินิจฉัยว่าเราป่วยเป็นอะไรแน่กันก่อนค่ะ

         - โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคร้ายที่คร่าชีวิตโดยไม่รู้ตัว  

โรคติดต่อทางน้ำลาย
ภาพจาก webmd.com

          10. ไข้กาฬหลังแอ่น (Meningococcal meningitis)

          เชื้อที่ทำให้เกิดโรคไข้กาฬหลังแอ่นคือ Neisseria meningitidis ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่มีความรุนแรงมาก ที่น่ากลัวคือสามารถติดต่อกันได้ผ่านทางการหายใจ ไอ จาม แม้กระทั่งสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย เสมหะของผู้ที่เป็นพาหะหรือคนที่เป็นโรคก็เสี่ยงติดเชื้อได้แล้ว โดยเชื้อจะผ่านเข้าไปทางลำคอแล้วเข้าไปในกระแสเลือด บางคนติดเชื้อแล้วไม่มีอาการก็เป็นเพียงพาหะเท่านั้น

          แต่หากเชื้อเล็ดรอดเข้าสู่กระแสโลหิตหรือระบบประสาทส่วนกลางได้ อาการของโรคจะรุนแรงขึ้น เริ่มจากมีอาการคล้ายไข้หวัด เจ็บคอ ไอ ปวดศีรษะ มีไข้สูง จากนั้นจะมีผื่นขึ้นตามตัว ลักษณะคล้ายจุดเลือดออก และเป็นแฉกคล้ายดาวกระจาย ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรค

          หากเชื้อไปที่เยื่อหุ้มสมองจะทำให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ มีอาการปวดศีรษะรุนแรง อาเจียน คอแข็ง ไม่ค่อยรู้สึกตัว สับสน อาจมีอาการชักเกร็ง หลังแอ่นแข็งได้ ซึ่งนี่เป็นที่มาของชื่อโรคไข้กาฬหลังแอ่นนั่นเอง ในรายที่รุนแรงจะมีเลือดออกในลำไส้และต่อมหมวกไต รวมทั้งภาวะที่เลือดจับตัวกันเป็นลิ่มทั่วร่างกาย (Waterhouse-Friderichsen Syndrome) จนเกิดอาการช็อกและเสียชีวิตในที่สุด โดยอาการทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นภายในระยะเวลาอันสั้น อาจเสียชีวิตได้ภายใน 48 ชั่วโมง 

          รู้ทันเพื่อระวังไข้กาฬหลังแอ่น 

โรคติดต่อทางน้ำลาย

          ใช้หลอดดูดร่วมกันกับผู้ป่วยโรคเอดส์ จะติดเอดส์ไหมนะ ?

          หลายคนอาจเคยสงสัยว่าการใช้หลอดดูดน้ำ หรือแก้วน้ำร่วมกับผู้ป่วย HIV จะติดเอดส์ไหม ขอตอบให้คลายกังวลใจตรงนี้เลยค่ะว่า โรคเอดส์ไม่ติดกันทางน้ำลายค่ะ  เนื่องจากน้ำลายมีสมบัติเป็นเบสอ่อน ไม่เหมาะกับการอาศัยอยู่ของเชื้อ HIV และในน้ำลายมีปริมาณเชื้อ HIV น้อยมาก เพราะในน้ำลาย 1 มิลลิลิตรจะพบเชื้อ HIV แค่ 1 ตัวเท่านั้น แต่หากหลีกเลี่ยงการใช้แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ร่วมกับผู้ป่วยได้ก็จะเป็นการดีค่ะ

          เห็นไหมคะว่าแค่คุณมีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ใช้หลอดดูดน้ำร่วมกัน ดื่มน้ำแก้วเดียวกัน คุณก็มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคต่าง ๆ ได้โดยไม่คาดคิดมาก่อน หรือเราเองนี่แหละที่อาจเป็นตัวแพร่เชื้อโรคให้คนอื่น ดังนั้นถ้าอยากมีชีวีที่ยืนยาว ก็อย่าประมาทในการใช้ชีวิตเชียวนะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล, กรมควบคุมโรค, สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ, คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล, หน่วยงานป้องกันโรคติดต่อในสหรัฐอเมริกา