กินกัญชาในอาหารจะเมาไหม กินได้แค่ไหนไม่อันตรายต่อสุขภาพ

 

กัญชา หลังถูกปลดล็อกบางส่วนก็มีอาหารใส่กัญชาออกมาหลายเมนู และเริ่มแพร่หลายมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่เอ๊ะ...กินเมนูกัญชาแบบนี้จะเมาไหมนะ

          กัญชาเป็นสมุนไพรที่เราเข้าถึงได้ง่ายขึ้นกว่าเดิมมาก อย่างตอนนี้ก็มีเมนูอาหารกัญชา และเครื่องดื่มผสมกัญชา ออกวางจำหน่ายในหลาย ๆ ร้าน ทำให้คนอยากลองกินอาหารใส่กัญชาดูสักที แต่เห็นรีวิวบางคนบอกว่ามึน ๆ บ้างแหละ แต่บางคนก็บอกว่าไม่ได้ส่งผลอะไรขนาดนั้นนะ เอาล่ะสิ...ตกลงเมนูกัญชากินแล้วจะเมาไหม ลองมาไขข้อสงสัยกันเลย
กัญชาในเมนูอาหาร ส่วนไหนกินได้-ไม่ได้

             ต้องอธิบายก่อนว่า กัญชาที่นำมาประกอบอาหารได้อย่างถูกกฎหมายคือ ใบกัญชาสด เช่น ใบกัญชาอ่อน หรือใบเพสลาด (ไม่อ่อนไม่แก่) ซึ่งในใบกัญชาสดจะมีสาร Canabidiol (CBD) และ Tetrahydrocannabinolic acid หรือ THCA ไม่มีฤทธิ์ต่อจิตและประสาท (ไม่มีสารเมา) แต่ THCA สามารถเปลี่ยนเป็นสาร THC หรือสารเมาได้ ด้วยกระบวนการต่าง ๆ เช่น ถูกแสงแดด สภาพอากาศ อุณหภูมิที่สูงขึ้น หรือการนำไปตากแห้ง เป็นต้น  

             อย่างไรก็ตาม เมื่อสาร THCA ถูกเปลี่ยนเป็น THC แล้วยังคงมีปริมาณ THC ไม่มากนัก จึงได้รับอนุญาตให้นำมาปรุงอาหารได้ โดยต้องซื้อจากแหล่งปลูกและแหล่งจำหน่ายที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกกฎหมายจาก อย. ด้วยนะคะ ไม่สามารถปลูกกัญชาเพื่อนำไปปรุงอาหารเองได้ ส่วนช่อดอกกัญชา รวมไปถึงเมล็ดกัญชาที่มีสารเมา THC ค่อนข้างสูง ยังคงถือว่าเป็นยาเสพติด ไม่สามารถนำมาประกอบอาหารได้อย่างเสรี

ใส่กัญชาในอาหาร ชูรสอร่อยเพิ่มขึ้นได้จริงไหม
เมนูกัญชา

ภาพจาก AChanFoto / Shutterstock.com

          คงเคยได้ยินกันมาว่า กัญชาทำให้อาหารอร่อยขึ้นได้ และคำกล่าวนี้ก็ไม่เกินจริงไปเท่าไรค่ะ เพราะในใบกัญชามีกรดกลูตามิก (Glutamic acid) ช่วยเพิ่มรสชาติอาหารได้ รวมทั้งสาร THC ที่จะเพิ่มกลิ่นหอมของอาหาร เมื่อกินไปแล้วจึงรู้สึกติดใจอยากกินอาหารมากขึ้น โดยตำรับยาหมอพื้นบ้านก็มีบันทึกไว้ว่า การใช้ใบกัญชาปรุงอาหารให้คนไข้ที่มีอาการเบื่ออาหาร ทำให้เจริญอาหารและกินข้าวได้มากขึ้นโดยไม่รู้ตัว

          ทั้งนี้ ใบกัญชาจะมีรสชาติคล้ายผักทั่วไป นิยมใส่ในอาหารประเภทต้ม น้ำแกง น้ำก๋วยเตี๋ยว ผัด หรือในปัจจุบันเราจะเห็นเมนูกัญชาในเครื่องดื่ม ขนมหวาน เบเกอรี่ หรือในอาหารประเภทชุบแป้งทอดมากขึ้น

กินเมนูกัญชาจะเมาไหม

          กรณีกินใบกัญชาสด ไม่ผ่านความร้อน จะไม่น่ากังวลเท่าไร เนื่องจากไม่ค่อยมีสารเมา เราจึงสามารถกินแบบผักสด เช่น ผักเคียง สลัด นำใบสดมาตกแต่งบนจานอาหาร จิ้มกับน้ำพริก คั้นเป็นเครื่องดื่ม หรือดื่มน้ำปั่นที่มีส่วนผสมของใบกัญชาสดได้อย่างปลอดภัย

          แต่หากนำใบกัญชาสดไปปรุงอาหารที่ผ่านความร้อนนาน ๆ เช่น ต้ม ทอด ต้องระวังสาร THCA จะถูกเปลี่ยนเป็น THC ส่งผลให้ได้รับสารเมาในปริมาณมากขึ้นได้ โดยปัจจัยที่สาร THC จะเพิ่มขึ้นก็คือ ระยะเวลาที่ปรุง ยิ่งปรุงนาน ยิ่งมีสารมากขึ้น รวมทั้งการปรุงด้วยความร้อนและไขมัน อย่างการนำกัญชาไปผัดน้ำมันหรือทอด จะทำให้สาร THC ซึ่งละลายในไขมันได้ดี จึงถูกสกัดออกมามากขึ้น

          ดังนั้น ถ้าจะรับประทานเมนูกัญชาที่ผ่านความร้อนต้องจำกัดปริมาณ คือไม่ควรกินใบกัญชาทั้งใบ เกิน 5-8 ใบต่อวัน ซึ่งโดยทั่วไปในเมนูต้มจะใส่ใบกัญชาประมาณ 1-3 ใบ ต่อแกง 1 หม้อ สำหรับรับประทานทั้งครอบครัว เราอาจจะเลือกกินแต่น้ำ ไม่กินใบก็ได้ หากต้องการชิมเมนูกัญชาหลายเมนู เพื่อไม่ให้สารเมาสะสมในร่างกายจนถึงจุดที่เกิดอาการเมาได้

          นอกจากนี้ ยังต้องระวังการกินใบแห้งของกัญชาเช่นกัน เพราะใบแห้งผ่านความร้อนมาแล้ว จึงมีสาร THC อยู่ในตัว ประมาณ 1-2 มิลลิกรัมต่อใบ หากนำมาปรุงอาหารด้วยการใช้ความร้อนหรือไขมันอีก ปริมาณสาร THC จะยิ่งสูงขึ้นด้วย

กินใบกัญชาในอาหาร จะมีผลข้างเคียงอื่น ๆ หรือไม่
เมนูกัญชา

          ในบางคนอาจเกิดอาการข้างเคียงเมื่อกินใบกัญชา เช่น ปากแห้ง คอแห้ง ง่วงนอน รู้สึกมึนงง ปวดหัว หัวใจเต้นเร็ว เนื่องจากใบกัญชาที่กินอาจมีสาร THC มากเกินไป ไม่ว่าจะเกิดจากการรับประทานเกินปริมาณที่แนะนำ การกินผิดวิธี หรือร่างกายไวต่อสารต่าง ๆ ได้ง่ายกว่าคนอื่น โดยอาการเหล่านี้จะเริ่มแสดงผลหลังรับประทาน 30-60 นาที และจะแสดงอาการเด่นชัดที่เวลา 1 ชั่วโมงครึ่ง-3 ชั่วโมง หลังรับประทาน

          เพราะฉะนั้น หากเพิ่งเริ่มต้นกินกัญชาหรือกินครั้งแรก ก็ไม่ควรกินปริมาณมากเกินไป และเมื่อกินแล้วให้รอดูผลหลังรับประทานภายใน 2 ชั่วโมง ถ้ามีอาการปากแห้ง คอแห้ง ให้ดื่มน้ำเข้าไปมาก ๆ หรือกรณีมีอาการมึนเมา ให้ดื่มน้ำมะนาวผสมน้ำผึ้ง หรือดื่มชารางจืด เพื่อบรรเทาอาการ

วิธีกินกัญชาในอาหารให้ปลอดภัย
สรุปแล้วควรกินแบบไหน
          กัญชาถือเป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งซึ่งมีไฟเบอร์และสารต้านอนุมูลอิสระในตัว ซึ่งถ้าเรากินอย่างถูกวิธีก็จะได้ประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยแนะนำให้กินเมนูกัญชาตามนี้

          1. เลือกกินใบสด เช่น กินเป็นผักสด ยำ หรือนำไปคั้นน้ำดื่ม น้ำปั่น
          2. ควรกินเมนูกัญชาที่ไม่ได้ผ่านความร้อนนาน ๆ เช่น ผัดกะเพรา เพื่อที่ร่างกายจะได้ไม่รับสาร THC มากเกินไป
          3. หากกินเมนูต้ม ตุ๋น แกงต่าง ๆ ควรกินแต่น้ำ ไม่กินใบที่ใส่ลงไป
ข้อควรระวังก่อนกินเมนูกัญชา

          ขอย้ำกันอีกครั้งว่าถ้าอยากกินเมนูกัญชาอย่างเอร็ดอร่อย ปลอดภัย ไม่เมา และไม่ผิดกฎหมาย ควรต้องเช็กลิสต์ข้อควรระวังตามนี้ด้วย

          * กินเมนูกัญชาจากร้านที่ซื้อใบกัญชาจากแหล่งปลูกและแหล่งจัดจำหน่ายที่ได้รับอนุญาตจาก อย. แล้ว

          * กินเมนูกัญชาในปริมาณน้อย หากเพิ่งเริ่มกินควรกินแค่ครึ่งใบ-1ใบต่อวันก่อน เพราะแต่ละคนจะมีความไวต่อฤทธิ์ของกัญชาแตกต่างกัน

          * ไม่ควรกินกัญชาหลายเมนูในมื้อเดียว เพราะอาจได้รับสารเมาสะสมอยู่ในร่างกายมากเกินไป

          * ไม่ควรกินใบกัญชาแบบทั้งใบหรือใบที่ผ่านความร้อนแล้ว เกิน 5-8 ใบต่อวัน เพราะหากกินในปริมาณมาก อาจมีอาการผิดปกติ เช่น กินอาหารได้มาก พูดมาก หัวเราะร่วน หิวของหวาน คอแห้ง และตาหวานได้

          * ระวังการกินเมนูกัญชาที่ผ่านความร้อน และการกินกัญชาร่วมกับอาหารที่มีไขมันสูง เพราะความร้อนและไขมันจะสกัดสาร THC ออกจากกัญชาได้มากขึ้น จึงไม่ควรกินมากเกินไป

          * ไม่ควรกินใบกัญชาแก่ หรือใบกัญชาตากแห้ง เพราะมีสาร THC มากกว่าใบกัญชาสด

          * ไม่กินใบกัญชาร่วมกับแอลกอฮอล์

          * ควรจำกัดการกินใบกัญชากับคนบางกลุ่ม เพราะอาจได้รับผลกระทบมากกว่าประโยชน์ต่อสุขภาพ

ใครบ้างต้องระวังในการกินเมนูกัญชา
เมนูกัญชา

          การกินเมนูกัญชาอาจส่งผลต่อสุขภาพในคนบางกลุ่ม ดังนี้

          1. เด็ก เยาวชน ที่อายุต่ำกว่า 25 ปี อาจเกิดภาวะเสพติดขึ้นมาได้

          2. ผู้สูงอายุ

          3. หญิงตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร รวมทั้งผู้หญิงที่วางแผนกำลังจะมีบุตร

          4. ผู้มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะผู้ที่ตับและไตบกพร่อง ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด

          5. ผู้ที่ใช้ยาวาร์ฟาริน หรือยาละลายลิ่มเลือดเป็นประจำ เพราะกัญชาจะไปเพิ่มขนาดยาวาร์ฟารินจนเป็นอันตรายต่อร่างกาย

          6. ผู้ใช้ยาที่มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง เช่น ยารักษาอาการจิตเวช

          แม้การรับประทานกัญชาเป็นอาหารจะมีข้อควรระวังอยู่บ้าง แต่ในทางการแพทย์กัญชายังมีประโยชน์อยู่มาก โดยเฉพาะกับการเลือกใช้สารสกัดกัญชาในปริมาณความเข้มข้นที่เหมาะสมและอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ


ขอบคุณข้อมูลจาก
คณะกรรมการขับเคลื่อนประชาสัมพันธ์การใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร, เฟซบุ๊กสมุนไพรอภัยภูเบศร, Thai PBS (1), (2), ศูนย์ข้อมูลข่าวสารด้านเวชภัณฑ์ กระทรวงสาธารณสุข, เฟซบุ๊ก สมุนไพรอภัยภูเบศร, ศูนย์นวัตกรรมการแพทย์แผนไทย