เกษตรกรหนองบัวลำภู วิสัยทัศน์ขั้นเทพ ปลูก ไม้พะยูง 20,000 ต้น เศรษฐีอยู่แค่เอื้อม

ไม้พะยูง เป็นไม้เนื้อแข็ง เนื้อไม้มีสีสันและลวดลายที่สวยงาม เป็นที่ต้องการของตลาดโลก โดยเฉพาะจีน สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน นำไปสู่ปัญหาการลักลอบตัดไม้ภายในประเทศ ประกอบกับไม้พะยูงหายาก และเป็นไม้หวงห้าม “ปลูกได้แต่ตัดยาก”

มีการประเมินกันว่า การลักลอบซื้อขายไม้พะยูงขณะนี้ ลูกบาศก์เมตรละ 200,000-600,000 บาท เลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม ถึงแม้การตัดใช้สอย หรือตัดจำหน่ายจะยุ่งยากก็ตาม แต่มีเกษตรกรจำนวนหนึ่ง ได้ปลูกต้นพะยูงเพื่อเป็นการปลูกป่า สร้างความสมดุลทางธรรมชาติ และเป็นเงินออมแก่ตนเอง หรือลูกหลาน

คุณทรงเดช บุญอุ้ม อายุ 65 ปี อยู่บ้านเลขที่ 153 หมู่ที่ 7 บ้านศิลามงคล ตำบลหนองสวรรค์ อำเภอเมืองหนองบัวลำภู จังหวัดหนองบัวลำภู เป็นประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก) ด้วย การสร้างความสมดุลให้แก่ธรรมชาติและเป็นเงินออมด้วยคือ การปลูกไม้พะยูง พื้นที่ 49 ไร่ หรือประมาณ 19,600 ต้น ได้เริ่มปลูกไม้พะยูง ตั้งแต่ ปี 2537 (14 พฤษภาคม) พื้นที่ 2 ไร่ ใช้ระยะปลูก 2×4 เมตร (200 ต้น/ไร่) ปลูกไม้สัก 5 ไร่ ใช้ระยะปลูก 2×4 เมตร โดยกรมป่าไม้ได้สนับสนุนต้นกล้าไม้และเงิน 3,000 บาท ต่อไร่ แบ่งจ่าย 5 ปี

วิธีการปลูก การดูแลรักษา

เริ่มจากไถเตรียมดิน จากนั้นเกลี่ยหน้าดินให้เรียบ แล้วปลูกเหมือนกับการปลูกป่าทั่วไป ขุดหลุ มเท่าขนาดถุงกล้าไม้ ไม่ได้ขุดหลุมใหญ่เหมือนกับการปลูกไม้ผลแต่อย่างใด

ระยะปลูก 2×2 เมตร ปลูกฤดูฝน ถ้าฝนตกก็ไม่ต้องให้น้ำ หลังปลูก 1 เดือน ให้ใส่ปุย สูตร 15-15-15 อัตรา และใส่อีกครั้งปลายฤดูฝนในช่วงสิงหาคมถึงกันยายน

เมื่อเข้าสู่ฤดูแล้ง หากมีการปลูกพืชแซมในช่องว่างระหว่างแถว จะทำให้มีรายได้เพิ่ม เป็นการให้น้ำแก่ไม้พะยูงไปในตัวด้วย พืชที่ปลูก ได้แก่ ถั่วลิสง 10 ไร่ ปอเทือง 22 ไร่ ปลูกหญ้าเนเปียร์ 2 ไร่ และข้าวโพดข้าวเหนียว

จากนั้นก็ย้ายไปปลูกแปลงอื่นๆ ต่อไป คือให้ไม้พะยูงได้รับน้ำด้วยเช่นกัน จะทำให้เรามีรายได้หมุนเวียนตลอดปี และจากการสังเกตพบว่า หากพะยูงได้รับน้ำในช่วงฤดูแล้งภายใน 2-3 ปี จะมีการเจริญเติบโตดีมาก

แต่ก็ทำได้เพียงไม่กี่ไร่ และจากการสังเกตหากให้น้ำฤดูแล้งด้วยสัก 2-3 ปีแรก เมื่ออายุ 20 ปี จะได้ขนาดโตพอๆ กับปลูกแบบอาศัยน้ำฝนอย่างเดียว 25 ปี

ต้นพะยูงที่ปลูก ปี 2537 ขณะนี้ประมาณ 23 ปี จำนวน 400 ต้น แต่ละต้นน่าจะได้ไม่ต่ำกว่าครึ่งลูกบาศก์เมตร หากประเมินลูกบาศก์เมตรละ 200,000 บาท (ขั้นต่ำ) พะยูงจะมีมูลค่า ต้นละ 100,000 บาท เลยทีเดียว จึงขอเชิญชวนพี่น้องเกษตรกรมาปลูกกันให้เยอะๆ เพราะขณะนี้กรมป่าไม้กำลังหาแนวทางแก้ไข ระเบียบเพื่อให้ตัดขายได้ง่ายขึ้น” คุณทรงเดช กล่าว

ที่มา thaifarmer