Home »
Uncategories »
“เห็ดแครง” พืชเศรษฐกิจตัวใหม่ กิโลละ1000บาท
“เห็ดแครง” พืชเศรษฐกิจตัวใหม่ กิโลละ1000บาท
“เห็ดแครง” พืชเศรษฐกิจตัวใหม่ กิโลละ1000บาท
“เห็ดแครงของเราขาวสวย ปลอดสารพิษ น่ารับประทานมาก
แตกต่างจากเห็ดแครงที่เกิดขึ้นเองธรรรมชาติมักมีสีดำ ดูไม่น่าทาน
แถมระยะหลังเห็ดแครงที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติในสวนยางพารา
เสี่ยงต่อการปนเปื้อนสารเคมี จากการฉีดยาของต้นยาง
ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าห่วงเพราะมีผลกระทบสุขภาพของผู้บริโภค” คุณจิตสุภา
ยวงใย อ.ต.ก. จังหวัดสงขลา กล่าวถึงข้อแตกต่างของเห็ดแครงทั่วไป
กับเห็ดแครงอินทรีย์ ของ อ.ต.ก.
องค์การตลาดเพื่อเกษตรกรจังหวัดสงขลา (อ.ต.ก สงขลา) ตั้งอยู่เลขที่ 424
หมู่ที่ 2 ตำบลพะวง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา จุดที่ตั้งของ อ.ต.ก.สงขลา
หาไม่ยาก แค่ใช้เส้นทางไปเกาะยอ อ.ต.ก.สงขลาอยู่ติดถนนสายหลัก
มีรั้วสำนักงานติดกับสํานักงานขนส่งจังหวัดสงขลา (เกาะยอ)
ตรงข้ามกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา (อบจ.สงขลา)
คุณจิตสุภา ยวงใย อ.ต.ก. จังหวัดสงขลา
เมื่อเดินทางไปถึง อ.ต.ก.สงขลา คุณจิตสุภา
พาผู้เขียนไปเยี่ยมชมโรงเรือนเพาะเห็ดแครงอินทรีย์ภายในโกดังเก็บสินค้าของอ.ต.ก.
มีคนงานผู้หญิง 2 คน กำลังนั่งตัดแต่งเห็ดแครงก่อนนำไปจำหน่าย
เห็ดแครง พบมากในสวนยาง
เห็ดแครง หรือ เห็ดตีนตุ๊กแก มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น
ภาคเหนือเรียกว่า เห็ดแก้น เห็ดตามอด ภาคกลางเรียก เห็ดมะม่วง
เนื่องจากขึ้นบนต้นมะม่วง นอกจากนี้ ยังพบขึ้นบนไม้ยูคาลิปตัส ไม้สน ฯลฯ
ในอดีต เห็ดแครง เป็นเห็ดป่าที่พบเห็นได้ทั่วไปและงอกได้ตลอดทั้งปี
พบขึ้นอยู่กับวัสดุหลายชนิด ทั้งท่อนไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ ใบหญ้า
แต่ที่พบเป็นปริมาณมาก สามารถเก็บรวบรวมเห็ดมารับประทานได้คือ
บนท่อนไม้และกิ่งไม้ ดังนั้น
จึงสามารถพบเห็นเห็ดแครงตามธรรมชาติได้ทั่วทุกภาคของประเทศ
แต่ระยะหลังสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมลง
ทำให้ปัจจุบันหาเห็ดแครงตามธรรมชาติได้ยากขึ้นทุกที
เห็ดแครงอินทรีย์ของ อตก.สงขลา
ชาวปักษ์ใต้นิยมเรียกเห็ดชนิดนี้ว่า “เห็ดยาง”
เพราะพบเห็นได้ง่ายบนไม้ยางพารา ในอดีตมักพบเห็ดแครงเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ
พบมากบนท่อนไม้ยางพารา หรือต้นยางพาราที่ตัดโค่นไว้ เมื่อท่อนไม้ตาย
ก็จะพบเห็ดแครงขึ้นเป็นจำนวนมากในช่วงฤดูฝน เห็ดแครงที่เก็บจากธรรมชาติ
มีราคาซื้อ-ขายในท้องตลาด ขีดละ 40 บาท บางช่วงสินค้าขาดตลาด
ผู้บริโภคก็ยอมซื้อเห็ดแครงในราคาสูงสูงถึง กิโลกรัมละ 1,000 บาทก็มี
เรียกได้ว่าเห็ดแครงเป็นสินค้ายอดนิยมในพื้นที่ภาคใต้
คุณกมลวิศว์ แก้วแฝก ผู้อำนวยการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.)
มีแนวคิดส่งเสริมให้เกษตรกรแต่ละจังหวัดผลิตสินค้าเกษตร 1 ชนิด
เป็นสินค้าเด่นประจำจังหวัด ดังนั้น อ.ต.ก.สงขลาจึงได้คัดเลือก “เห็ดแครง”
เป็นสินค้าเด่นประจำจังหวัดสงขลา เพราะเป็นสินค้ายอดนิยมของคนใต้อยู่แล้ว
แถมปลูกก็ง่าย ขายก็ดี จึงกลายเป็นที่มาของโครงการ “เห็ดแครงสงขลา”
จนถึงทุกวันนี้
คุณกมลวิศว์ แก้วแฝก ผู้อำนวยการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.)
เห็ดแครง เป็นเห็ดขนาดเล็กมีลักษณะคล้ายพัด ด้วยฐานมีก้านขนาดสั้นๆ
ยาวประมาณ 0.1-0.5 เซนติเมตร ดอกเห็ดกว้างประมาณ 1-3 เซนติเมตร
ผิวด้านบนมีสีขาวปนเทาปกคลุมทั่วไป ลักษณะดอกเหนียวและแข็งแรง
เห็ดแครงที่พบในสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน
ลักษณะดอกเห็ดอาจแตกต่างกันไปในแต่ละท้องที่ เห็ดแครง 100 กรัม ให้ โปรตีน
17.0 กรัม ไขมัน 0.5 กรัม แคลเซียม 90 มิลลิกรัม ธาตุเหล็ก 280 มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส 640 มิลลิกรัม
เห็ดแครงมีคุณประโยชน์ สามารถเป็นได้ทั้งอาหารและยา
เพราะเห็ดแครงมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ทั้งคาร์โบไฮเดรต มีสารต้านเชื้อไวรัส
ยับยั้งเซลล์มะเร็ง แถมเป็นแหล่งอาหารโปรตีนสำคัญสำหรับผู้รักสุขภาพ
ทำให้เห็ดแครงเป็นที่นิยมของคนไทยและต่างชาติ เช่น ญี่ปุ่น
ที่นำเห็ดแครงมาแปรรูปเป็นแคปซูลอาหารเสริมจำหน่ายในท้องตลาด
เห็ดแครงที่บานเต็มที่พร้อมเก็บ
จุดเด่นของเห็ดแครงคือ เห็ดแครงเพาะได้ง่าย ใช้ระยะเวลาสั้นๆ เพียงแค่ 7
วัน ก็สามารถเก็บผลผลิตออกขายได้แล้ว
จึงเหมาะนำมาส่งเสริมเป็นอาชีพเสริมให้กับผู้สนใจ
ประกอบกับกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางในพื้นที่ภาคใต้ประสบปัญหาขาดแคลนรายได้
อ.ต.ก.สงขลา จึงต้องการสนับสนุนให้พี่น้องชาวสวนยางหันมาเพาะเห็ดแครงขาย
เป็นรายได้เสริมในช่วงราคายางพาราตกต่ำ
อ.ต.ก.สงขลาจึงเปิดศูนย์การเรียนรู้การเพาะเห็ดแครงอินทรีย์เมื่อต้นปี 2560
จนถึงปัจจุบัน เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ
อ.ต.ก.สงขลาจะรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร เพื่อส่งไปจำหน่ายที่ตลาด
อ.ต.ก.จตุจักร ต่อไป
อ.ต.ก.สงขลาจะนำเห็ดแครงที่รับซื้อจากเกษตรกร
ไปเก็บรักษาคุณภาพอย่างดีเพื่อยืดอายุการจำหน่าย “เห็ดสด”
ถูกบรรจุใส่ถุงสุญญากาศ เก็บแช่เย็นเพื่อรักษาคุณภาพความสดใหม่ได้นาน 1
สัปดาห์ ขายกิโลกรัมละ 500-700 บาท ส่วนเห็ดแครงที่ผ่านขบวนการแปรรูปอบแห้ง
และผ่านการฆ่าเชื้อก่อนบรรจุใส่ถุงสุญญากาศ มีอายุการจำหน่ายได้นาน 1 ปี
ขายกิโลกรัมละ 1,000 บาท ที่ผ่านมา เห็ดแครงสงขลาขายดีมาก
ผลิตเท่าไหร่ก็ไม่พอขาย
เรียกว่าสินค้านี้มีโอกาสขยายกำลังผลิตได้อีกมากให้เพียงพอกับความต้องการของตลาดที่เติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี
ตามกระแสความนิยมบริโภคเห็ดเพื่อสุขภาพนั่นเอง
เปิดอบรม เพาะเห็ดแครงฟรี
อ.ต.ก.สงขลา เปิดโครงการฝึกอบรมเพาะเห็ดแครงอินทรีย์ให้แก่ผู้สนใจ
เดือนละ 1 ครั้ง ผู้สนใจเข้าฝึกอบรม “ฟรี” ไม่มีค่าใช้จ่าย
(รับจำนวนจำกัด) พิเศษสุดๆ มีก้อนเห็ดแครง “แจกฟรี” ในวันฝึกอบรมด้วย
ผู้สนใจสอบถามข้อมูล และจองสำรองที่นั่งได้ที่ โทร. (074) 330-241 หรือ
Facbook : อตก.สงขลา หร www.facebook.com/ortorkorsongkhla
หรืออินบ็อคมาทางเพจ : fb.com/ortorkorsongkhla/messages หรือสมัครโดยแอด
Line ไลน์ : กลุ่มเห็ดแครง อ.ต.ก.สงขลา กด>>>
line.me/R/ti/g/OqHAl-f90t แจ้งชื่อ – เบอร์โทร.มาในกลุ่มได้เลย
เกษตรกรที่เข้าฝึกอบรมความรู้เพาะเห็ดแครง กับ อ.ต.ก.สงขลา
สำหรับงาน สวทช.สัญจร เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2562 ณ
ศูนย์ประชุมนานาชาติหาดใหญ่ (มอ.) อ.ต.ก.ได้เปิดบู๊ธเห็ดแครง
โดยเชิญกลุ่มเกษตรกรจากบ้านเห็ดแครงมาออกบู๊ธภายในได้นำเสนอผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเห็ดแครง
อาทิ เห็ดแครงสด, เห็ดแครงอบแห้ง, ซาลาเปาเห็ดแครง
สินค้าที่ได้รับความสนใจสูงคือ แฮมเบอร์เกอร์เห็ดแครง
มีคนสนใจมาต่อแถวชิมกันเอร็ดอร่อย
รวมทั้งเปิดตัวผลิตภัณฑ์แปรรูปตัวใหม่เป็นที่แรก คือผลิตภัณฑ์ฟริซดราย
เป็นเห็ดแครงกึ่งสำเร็จรูป แค่ฉีกซองเทน้ำก็พร้อมทานได้เลย
แถมยังมีโปรตีนสูงอีกด้วย หากใครสนสามารถติดต่อได้ที่ กลุ่มบ้านเห็ดแครง
facebook.com/Schizophyllum.commune หรือสอบถามทางเบอร์โทร. (086) 296-1487
คุณธีร์กวิน
เทคนิคการเพาะเห็ดแครง
คุณจิตสุภา กล่าวว่า ทาง อ.ต.ก.สงขลา จัดอบรมการเพาะเห็ดแครงอินทรีย์
โดยมี คุณบรรลุ บุญรอดเจ้าของฟาร์มเห็ดไชโย จากจังหวัดสุราษฎร์ธานี
มาเป็นวิทยากรอบรมเรื่องการเพาะเห็ดแครงให้กับผู้สนใจแบบครบวงจร
โดยให้ความรู้เรื่องการผลิตก้อนเชื้อให้ได้มาตรฐาน การเขี่ยเชื้อเห็ด
การกรีดถุง เปิดดอก การรดน้ำ ตรวจไม่ให้มีไรแดงและราดำเกิดขึ้น
ไปจนถึงขั้นการเก็บผลผลิต เพื่อจำหน่ายเห็ดสดและเห็ดอบแห้ง
รวมทั้งแนะนำเทคนิคการแปรรูปเห็ดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในรูปแบบต่างๆ
สูตรอาหารทำก้อนเชื้อเห็ดแครง คุณบรรลุ แนะนำให้ใช้ขี้เลื่อย 100
กิโลกรัม, รำละเอียด 50 กิโลกรัม ภูไมท์ 2 กิโลกรัม, ดีเกลือ 0.1 กิโลกรัม
ปรับความชื้นด้วยน้ำ ประมาณ 50-60%
ใส่อาหารเสริมและอาหารชีวภาพลงไปเพื่อให้ดอกเห็ดมีน้ำหนัก มีเนื้ออร่อย
และเก็บได้นานเป็นสัปดาห์ หลังจากได้ส่วนผสมแล้วบรรจุใส่ถุงพลาสติกเพาะเห็ด
ขนาด 6.5×10 นิ้ว ประมาณ 3 ใน 4 ของถุง (น้ำหนัก 600 กรัม ต่อถุง)
นำไปนึ่งในหม้อนึ่งลูกทุ่ง อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 3-4 ชั่วโมง
นับจากน้ำเดือด เมื่อครบกำหนดเวลาพักไว้ให้เย็น
ลำเลียงไปไว้ในห้องเขี่ยเชื้อ แล้วรีบใส่เชื้อ อย่าทิ้งไว้ให้เกิน 24
ชั่วโมง จะทำให้การปนเปื้อนของเชื้อสูง เห็ดแครงจะใช้เวลาบ่มก้อนเชื้อ
15-20 วัน เชื้อก็จะเดินเต็มก้อนพร้อมนำไปเปิดดอก
เทคนิคการเปิดดอกเห็ดแครง เริ่มจากนำก้อนเชื้อเข้าสู่โรงเรือน
ดึงจุกพลาสติกที่ปิดก้อนออก ใช้ยางรัดปากถุงแทน
จากนั้นกรีดถุงก้อนเชื้อเป็นแนวยาว 4 แนว แบบทแยง 3
วันแรกรดน้ำที่พื้นและผนังโรงเรือน เพื่อเพิ่มความชื้นในโรงเรือน
เห็ดแครงเจริญเติบโตได้ดีในสภาพอุณหภูมิ 30-35 องศาเซลเซียส
ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80% ทำให้เห็ดแครงสามารถเปิดดอกได้ตลอดทั้งปี
หลังจากกรีดถุงและรดน้ำพื้นให้ชื้น ประมาณ 2-3 วัน
ดอกเห็ดจะเริ่มออกตุ่มดอกออกมาเรื่อยๆ หลังจากนั้นประมาณวันที่ 6-7
ดอกเห็ดจะโตพอที่จะเก็บเกี่ยวได้ แนะนำให้ใช้มีดคมๆ
เฉือนตรงโคนดอกเห็ดที่ดอกบานเต็มที่แล้วเก็บได้รุ่นแรก
จะให้ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 80-120 กรัม ต่อเห็ด 1 ก้อน
หลังจากเก็บเห็ดรุ่นแรกแล้ว รออีก 6-7 วัน จึงจะสามารถผลผลิตรุ่นที่ 2
โดยจะได้ผลผลิตเฉลี่ย 20-30 กรัม ตามลำดับ
ก้อนเชื้อเห็ดแครงที่เปิดดอกแล้ว (ซ้ายไปขวา) อายุ 2 วัน 3 วัน 5 วัน
ดังนั้น เห็ด 1 ก้อน (600 กรัม) จะได้ผลผลิตประมาณ 100-150 กรัม
เมื่อเก็บผลผลิตหมดแล้ว ให้ขนก้อนเชื้อเห็ดไปทิ้งให้เป็นที่ ทิ้งให้หมด
หรือนำไปทำลาย
สำหรับโรงเรือนเปิดดอกหลังจากขนย้ายก้อนเชื้อเห็ดเก่าไปทิ้งควรทำความสะอาดโรงเรือนกวาดเอาเศษสิ่งสกปรกออกไป
ใช้น้ำสะอาดล้างโรงเรือนให้สะอาด แล้วล้างแผงหรือชั้น
บริเวณพื้นโรงเรือนล้างด้วยน้ำยางคลอรีนหรือผงซักฟอก
ฉีดฆ่าเชื้อราที่อาจซุกซ่อนตามเสา ตามชั้น บริเวณพื้น
พักโรงเรือนให้แห้งเป็นเวลา 2-3 วันก่อน
จึงค่อยนำก้อนเชื้อเห็ดรุ่นใหม่ไปเปิดดอกต่อไป
โครงการอบรมการเพาะเห็ดแครงอินทรีย์
แม้จะสร้างผลตอบแทนด้านตัวเงินให้กับ อ.ต.ก.ไม่มากนัก
เมื่อเทียบกับโครงการอื่นๆ
แต่เป็นกิจกรรมที่เจ้าหน้าที่อ.ต.ก.สงขลาทุกคนตั้งใจทำงานด้วยความสุข
เพราะเห็ดแครงเป็นสินค้าที่มีคุณประโยชน์ เป็นได้ทั้งอาหารและยา
ดีต่อสุขภาพคนไทย ประการต่อมา อ.ต.ก.สงขลา ตั้งใจทำงานเพื่อเกษตรกร
ตามวิสัยทัศน์ “เป็นองค์กร ที่บริหารจัดการด้านการตลาดอย่างเป็นธรรม
เพื่อนำไปสู่ความผาสุกของเกษตรกร” นั่นเอง
ที่มา รายงานพิเศษ สงขลา เมืองเกษตรปลอดภัย technologychaoban