ไอเดียดีมาก “ปลูกมะกรูดในกระถาง” ด้วยวิธีเพาะเมล็ด และสรรพคุณชั้นเลิศจากมะกรูดช่วยในการฟอกเลือด

ปลูกมะกรูดในกระถาง ด้วยวิธีเพาะเมล็ด ประโยชน์ และสรรพคุณมะกรูด ขั้นตอนการปลูกมะกรูดในกระถางพร้อมวิธีการดูแล ที่ทั้งง่ายและได้ประโยชน์หลายอย่าง ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายแถมยังได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ไปดูกันว่าขั้นตอนการปลูกมะกรูดต้องทำอะไรบ้าง

มะกรูด (kaffir lime) เป็นพืชตระกูลส้ม และมะนาว (Citrus family) ที่เป็นพืชพื้นเมืองในแถบประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจัดเป็นไม้ผล และพืชผักสมุนไพรที่นิยมปลูกไว้ตามบ้าน และสวน
เพื่อใช้สำหรับประกอบอาหาร เนื่องจาก ใบ และผล มีน้ำมันหอมระเหยที่ให้กลิ่นหอมช่วยในการดับกลิ่นคาว และเพิ่มรสให้แก่อาหารได้เป็นอย่างดี รวมถึงมีองค์ประกอบของสารสำคัญหลายชนิดที่มีคุณสมบัติทางยา และคุณสมบัติทางด้านความสวยความงาม


อุปกรณ์

-ผลมะกรูดแก่ ๆ หรือผลที่ร่วงอยู่ใต้ต้นในสภาพสมบูรณ์
-อุปกรณ์ทำความสะอาดเม็ดมะกรูด มีด, ช้อน, ถาดรอง
-แก้วพลาสติกธรรมดา
-ถุงดำสำหรับปลูกต้นกล้า
-กระถางดินเผา
-ดินร่วน
-ปุ๋ยคอก
-กาบมะพร้าวสับ

วิธีการปลูกมะกรูด

1. นำผลมะกรูดแก่จัดหรือที่ร่วงหล่นและอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์มาฝานออกให้เนื้อในแยกออกจากกัน โดยที่ต้องระวังไม่ให้เมล็ดมะกรูดเสียหาย ใช้ช้อนคว้านเมล็ดและคัดเลือกเมล็ดที่สมบูรณ์ที่สุดเก็บไว้
2. ล้างเม็ดมะกรูดที่เตรียมไว้ด้วยน้ำสะอาด เพื่อชำระล้างผิวเคลือบลื่นให้หลุดออก
3. วางเมล็ดมะกรูดที่เราล้างสะอาดแล้วลงบนถาด เกลี่ยทั่วอย่าให้ทับกัน แล้วนำไปผึ่งแดดให้แห้งประมาณ 2-4 วัน
4. เตรียมดินร่วนปนทรายที่ระบายน้ำได้ดีมาผสมกับมูลสัตว์หรือปุ๋ยคอก เพื่อเทลงในหลุมเพาะกล้าหรือแก้วพลาสติกที่เตรียมไว้
5. นำเมล็ดมะกรูดตากแห้งมาเพาะลงในดิน รดน้ำให้ชุ่มแต่อย่าแฉะจนเกินไป
6. ตั้งหลุมเพาะหรือแก้วเพาะไว้ในที่ที่มีแสงแดดส่องถึง อากาศถ่ายเทได้สะดวก
7. เมื่อต้นกล้าเริ่มงอกขึ้นและออกใบประมาณ 3-4 ใบ ย้ายลงมาปลูกในถุงดำสำหรับเพาะต้นกล้าให้แข็งแรงและสูงประมาณ 30 เซนติเมตร
8. หลังจากที่ได้ต้นกล้าที่แข็งแรงสมบูรณ์แล้ว ให้ย้ายมาปลูกลงในกระถางด้วยดินร่วนปนทรายผสมปุ๋ยคอกในอัตราส่วนเท่า ๆ กัน คลุมหน้าดินด้วยกาบมะพร้าวสับเพื่อป้องกันความชื้นระเหย
9. มะกรูดจะออกผลให้เก็บภายใน 1-2 ปี ส่วนต้นมะกรูดที่สูงตั้งแต่ 6 นิ้วขึ้นไป สามารถนำไปประกอบอาหารได้เลย
10. หากกิ่งมะกรูดงอกยาวเกินขนาดกระถาง แนะนำขดกิ่งยาว ๆ นั้นให้เป็นวงกลมในแนวนอนและทาบลงไปบนดิน เพื่อควบคุมขนาดต้นให้เหมาะสม แถมกิ่งที่วางทาบลงไปนั้นจะงอกกิ่งกระโดงขึ้นมาใหม่ ออกใบ ออกผลให้เก็บเกี่ยวตลอดทั้งปีอีกด้วย


วิธีการดูแล

การดูแลรักษาต้นมะกรูดนั้นไม่ยาก เพียงแค่รดน้ำในตอนเช้าให้ชุ่มแต่อย่าแฉะจนเกินไป หมั่นสังเกตว่าดินในกระถางระบายน้ำได้ดีอยู่หรือไม่ เพื่อป้องกันน้ำขังสาเหตุหลักของรากเน่า ตั้งกระถางให้โดนแดดแค่วันละประมาณ 8 ชั่วโมง ตัดแต่งส่วนที่เน่าเสียทิ้งไป และเปลี่ยนดินในกระถางทุก 2 ปีเพื่อเติมสารอาหาร

ประโยชน์จากมะกรูด

• ใบมะกรูด นิยมใช้ประกอบอาหารสำหรับใช้ดับกลิ่นคาวของเนื้อต่างๆ เช่น แกงเผ็ด ต้มยำ ใช้โรยในอาหาร เช่น ห่อหมก
• ใบมะกรูด ใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องแกง เช่น พริกแกง
• ลูกมะกรูด ผ่าเป็นชิ้นใช้สำหรับดับกลิ่นในห้องน้ำชาย-หญิง
• น้ำจากลูกมะกรูด ใช้ดับกลิ่นคาว และปรุงอาหารให้มีรสเปรี้ยว เช่น แกงส้ม แกงคั่ว
• น้ำจากลูกมะกรูด ใช้ทำน้ำผลไม้ปั่น เช่น น้ำมะกรูดปั่น
• ลูกมะกรูดนำมาสับ และบีบคั้นเอาน้ำ ใช้สำหรับผสมหรือทำน้ำยาสระผม
• ลูกมะกรูดหั่นเป็นชิ้นใช้สระผมร่วมกับแชมพูสระผม
• ลูกมะกรูด นำมาคลึงให้ซ้ำ แล้วใส่ในภาชนะน้ำขังเพื่อกำจัดลูกน้ำ
• สารสกัดจากใบมะกรูดใช้แต่งกลิ่นไวน์ขาวหรือไวน์แดง
• สารสกัดจากใบมะกรูดใช้เป็นส่วนผสมของต้านมะเร็ง
• น้ำจากลูกมะกรูด ใช้เป็นส่วนผสมของยาฟอกเลือด
• น้ำมันหอมระเหยจากผล และใบมะกรูด ใช้เป็นส่วนผสมในอุตสาหกรรมเครื่องหอม และเครื่องสำอางต่างๆ
• น้ำมันหอมระเหย ใช้ปรับอากาศตามห้อง ช่วยลดกลิ่นอับ กลิ่นเหม็นคาว
• ใบ และผลสด ใช้ดม แก้อาการมึนเมา อาการเวียนศรีษะ

1. การใช้ในตำรับยา และประโยชน์ทั่วไป

น้ำมะกรูด
น้ำมะกรูดช่วยบำรุงสุขภาพเหงือก และฟัน เนื่องจากมีวิตามินซีในปริมาณมาก โดยในประเทศไทยมีการนำน้ำมะกรูดไปใช้สำหรับเป็นยาขับ เสมหะ แก้ไอ แก้โรคเลือดออกตามไรฟัน นำมาดองยารับประทานเป็นยาฟอกโลหิตสตรี ผสมกับปูนแดงทาแก้ปวดท้อง นอกจากนั้น มีการนำน้ำมะกรูดไปใช้เป็นยาฟอกขาวตามธรรมชาติสำหรับกำจัดคราบรอยด่าง รวมไปถึงการนำไปใช้สำหรับฆ่าทากตามพื้นดิน
ผิวมะกรูด
ผิวมะกรูดมีการนำไปใช้เป็นยาขับลมในลำไส้ แก้แน่นท้อง แก้วิงเวียนเป็นยาบำรุงหัวใจ ใช้กระตุ้นและรักษาอาการปวดท้อง นอกจากนี้ ยังใช้เป็นส่วนผสมสำหรับผลิตภัณฑ์น้ำยาบ้วนปาก
ในประเทศไทยมีการนำผิวมะกรูดแห้งให้แก่หญิงที่เพิ่งคลอดบุตร และใช้เป็นยาเร่งประจำเดือน ส่วนประเทศอินเดียนิยมใช้ผิวมะกรูดสำหรับใช้เป็นยาฆ่าแมลงด้วย ส่วนในตำรับยาของชาวมาเลเซียมีการใช้ผลสดทั้งผลสำหรับการเตรียมยาสำหรับใช้ภายใน ซึ่งจะเป็นใบสั่งยาเกี่ยวกับโรคความเจ็บปวดในช่องท้อง และใช้เป็นยาขับลมแก้ท้องเฟ้อ

2. การใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร และเครื่องดื่ม

ใบมะกรูดมักถูกนำไปใช้ในหลายประเทศสำหรับใช้เป็นสารกันเสียในผลิตภัณฑ์อาหาร (preserve foods) และยังทำให้เกิดความอยากอาหาร
น้ำมะกรูด และผิวผลมะกรูดโดยส่วนมากจะใช้ปรับปรุงรสชาติและกลิ่นรสของอาหารในภูมิภาคเอเชีย เช่น ในประเทศอินโดนีเซีย มักนิยมใช้ใบมะกรูดเพื่อกลิ่นรสที่จำเพาะ เช่น เครื่องปรุง และเครื่องดื่ม
ในประเทศไทยใช้ผิวมะกรูดเป็นเครื่องเทศ โดยใช้เป็นส่วนผสมของน้ำพริกแกงหลายชนิด น้ำมะกรูดถูกนำไปใช้สำหรับเตรียมเป็นเครื่องดื่ม และสำหรับปรุงอาหารเพื่อให้มีรสเปรี้ยว และดับกลิ่นคาวปลา นิยมใส่น้ำมะกรูดในปลาร้าหลน แกงส้ม แกงคั่ว ฯลฯ และมีการนำไปใช้กันมากสำหรับเป็นเครื่องปรุงเนื้อ
ส่วนในทางการค้าด้วยลักษณะที่โดดเด่น และมีรสชาติจำเพาะ จึงมักใช้สำหรับตำรับอาหารจำพวกแกงเผ็ด ซุป และกูไล (gulai) ซึ่งเป็นแกงพื้นเมืองชนิดหนึ่งของประเทศอินโดนีเซีย เป็นต้น

3. การใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง

เนื่องจากมะกรูดมีสมบัติในการช่วยบำรุงหนังศีรษะ และกระตุ้นการงอกของรากผม ช่วยขจัดรังแคที่มีสาเหตุมาจากเชื้อจุลินทรีย์ แก้คันศีรษะ และช่วยหล่อลื่นผมทำให้ผมดกดำเป็นเงางาม รากผมแข็งแรง ไม่หลุดร่วงง่าย
ส่วนน้ำมะกรูดมีสมบัติเป็นกรดตามธรรมชาติเหมาะสำหรับหนังศีรษะไม่ทำให้เกิดการระคายเคือง ช่วยในการทำความสะอาดเส้นผม และหนังศีรษะ และช่วยในการชำระล้างคราบสบู่และแชมพู
ดังนั้นจึงนิยมนำมะกรูดไปใช้เป็นส่วนผสมสำหรับการเตรียมผลิตภัณฑ์แชมพูผสมมะกรูด
ชาวพม่า และชาวมาเลเซีย ใช้น้ำมะกรูดเป็นแชมพูธรรมชาติสำหรับสระผม และชำระล้างส่วนต่างๆ ของร่างกาย นอกจากนี้ ยังมีการนำน้ำมะกรูด และผลมะกรูดไปใช้สำหรับแต่งกลิ่นในผลิตภัณฑ์แชมพูสระผม รักษาชันนะตุ รังแค และทำให้ผมสะอาด รวมถึงมีการนำไปใช้เป็นครีมทาผิวด้วย ส่วนประเทศฟิลิปปินส์นิยมใช้ผลมะกรูดผสมกับเปลือกสะบ้ามอญสระผม

เอาเป็นว่าใครที่กำลังตั้งโครงการอยากจะปลูกต้นไม้สักต้น ก็ลองหันมามองวิธีการปลูกมะกรูดในกระถางอย่างที่เรานำฝากกันวันนี้ดูสิคะ
เพราะนอกจากจะช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับบ้านได้แล้ว มันยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายวัตถุดิบอาหารไปได้อีกหนึ่งทาง และยังมีสรรพคุณที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายอีกด้วย ดีเลิศขนาดนี้มีหรือจะพลาดได้อย่างไร
แหล่งที่มา: gurukaset.net