เปิดประวัติ ‘ถ้ำหลวง’ อ.แม่สาย จ.เชียงราย หลังทีมฟุตบอล 13 ชีวิตสูญหาย

เปิดประวัติ ‘ถ้ำหลวง’ อ.แม่สาย จ.เชียงราย หลังทีมฟุตบอล 13 ชีวิตสูญหาย

เปิดประวัติ “ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน” หลัง 13 นักฟุตบอลเยาวชนและโค้ช ติดอยู่ในถ้ำเนื่องจากระดับน้ำในถ้ำท่วมสูง ถือเป็นถ้ำหินปูนขนาดใหญ่ มีความยาวมากที่สุดในประเทศไทยกว่า 7 กิโลเมตร เป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม อ.แม่สาย มีความสวยงามของหินงอก หินย้อย

จากกรณีเด็กนักเรียนชายทีมฟุตบอลหมูป่า 12 คน และโค้ชอีก 1 คน ติดอยู่ในถ้ำวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย ตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันที่ 23 มิถุนายน 2561 ซึ่งมีการทุ่มเทสรรพกำลังจากทุกภาคส่วนร่วมปฏิบัติภารกิจค้นหานั้น

ล่าสุด (25 มิถุนายน 2561) รายการเรื่องเล่าเช้านี้ ทางช่อง 3 ได้เผยข้อมูลเกี่ยวกับประวัติของถ้ำหลวงแห่งนี้ ว่า วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนาง เป็นถ้ำขนาดใหญ่ มีความสวยงามของหินงอกหินย้อยภายในถ้ำ ถือเป็นถ้ำยอดนิยมที่นักท่องเที่ยวมักเข้าชมความงามภายในถ้ำต่อเนื่องตลอดทั้งปี จะมีแค่ช่วงหน้าฝนเท่านั้นที่ทางเจ้าหน้าที่จะทำการปิดการเข้าเยี่ยมชม

เนื่องจากภายในถ้ำจะมีธารน้ำไหลเชี่ยวปิดช่องทางเดินหลายจุด หวั่นจะเกิดอันตราย จึงจะทำการปิดและจัดเวรเฝ้าตรวจตลอดเวลา จนกว่าระดับน้ำภายในถ้ำแห้งสนิท จึงจะเปิดการเยี่ยมชมต่อไป

สำหรับหน้าฝนจะอยู่ในช่วงกลางเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม ปริมาณน้ำในถ้ำจะเพิ่มระดับขึ้นอย่างต่อเนื่อง และด้วยเทือกเขานางนอน มีภูเขาสูงสลับซับซ้อนเป็นจำนวนมาก

ทำให้ระดับน้ำในถ้ำที่อยู่ต่ำกว่า มีน้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว บางจุดท่วมสูงถึง 8-10 เมตร ทางเดินถูกตัดขาด และน้ำไหลเชี่ยวกราก เจ้าหน้าที่จึงจำเป็นต้องทำการปิดการเยี่ยมชมโดยเฉพาะถ้ำหลวงและถ้ำทรายทอง ซึ่งตั้งอยู่ภายในวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน รวม 2 แห่ง

ทั้งนี้ ถ้ำหลวง เป็นถ้ำหินปูนขนาดใหญ่ มีความยาวกว่า 7 กิโลเมตร เชื่อกันว่ามีความยาวมากที่สุดในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมและสำคัญของ อ.แม่สาย มีเส้นทางเข้าก่อนถึงด่านพรมแดนแม่สาย ประมาณ 3 กิโลเมตร ตามถนนพหลโยธินหมายเลข 1 ขาขึ้น โดยมีป้ายบอกตามเส้นทางลาดยาง ไปถึงวนอุทยาน

ซึ่งนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ นิยมแวะเยี่ยมชมความงามของหินภายในถ้ำ มีห้องโถงกว้างใหญ่ สลับเส้นทางเดิน ที่ล้อมรอบด้วยหินเกล็ดสะท้อนแสง หินงอก หินย้อย ถ้ำลอด ที่สวยงาม

“ชัยพร ศิริไพบูลย์” ผู้เชี่ยวชาญด้านถ้ำ นักธรณีวิทยา เผยโอกาสรอดของทีมฟุตบอลเด็ก-โค้ช13ชีวิต ที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง จ.เชียงราย ชี้ในอดีตตนเคยเข้าไปสำรวจมาแล้ว นายชัยพร ศิริไพบูลย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านถ้ำ นักธรณีวิทยา เคยปฏิบัติงานกรมทรัพยากรธรณี ได้ให้ข้อมูลว่า

ตนได้เคยขึ้นสำรวจถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน และพบว่า ทางกายภาพของถ้ำจะมีโถงพื้นต่ำ กับโถงพื้นสูงอยู่สลับกัน โดยจุดโถงพื้นทรายทาอยู่ด้ายซ้ายของปากถ้ำ ที่เจ้าหน้าที่คาดการณ์ว่า ทั้ง 13 คน น่าจะอยู่จุดนั้น มีความสูงต่ำจากปากถ้ำ 6-8 เมตร ถ้าหากปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นอีก 1 เมตรจากฝนตกเมื่อคืน ทั้ง 13 คน ยังคงอยู่บนโถงเนินทรายได้

แต่ขณะเดียวกัน หากทั้ง 13 คนไม่ได้อยู่โถงเนินทรายนี้ ถัดโถงน้ำที่ท่วม ซึ่งเป็นจุดรอยต่อ ยาวประมาณ 800 เมตร เป็นโถงสูงเช่นกัน ซึ่งในช่วงน้ำท่วม ทั้ง 13 ชีวิต อาจปีนป่ายหนีน้ำไปอยู่ที่สูงได้เช่นกัน

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญ ยังระบุอีกว่า ความสูงด้านในถ้ำมีระยะประมาณ 400-500 เมตร และด้วนเป็นถ้ำอายุหลายร้อยปี มีซากฟอสซิลที่ผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ ส่งผลให้อากาศออกซิเจนน้อย

แต่กระแสน้ำที่ไหลผ่าน จะช่วยลดคาร์บอนไดออกไซค์ได้ระดับหนึ่ง ซึ่งวิธีการสูบน้ำทำได้ แต่ต้อง ติดตั้งหัวเครื่องจักรดีเซล เดินเครื่องอยู่ปากถ้ำ แล้วใช้วิธีต่อสายยางยาวเพื่อสูบน้ำ สามารถทำได้ แต่ห้ามติดตั้งหัวเครื่องจักรภายในถ้ำเด็ดขาด ไม่เช่นนั่นจะยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง

ส่วนโอกาสรอดชีวิตของ 13คน ผู้เชี่ยวชาญมีความมั่นใจว่า หากทั้ง 13 คนอยู่บนโถงสูง เพื่อหนีน้ำ และหาอากาศหายใจ มีโอกาสรอดชีวิตสูง แต่ถ้าหาก ไปหลบในโถงพื้นต่ำ ซึ่งในถ้ำมีโถงพื้นต่ำอีกหลายจุด ที่น้ำไม่ท่วม จะมีโอกาสเสี่ยงทั้ง 13คนสลบ จากการสูดคาร์บอนไดออกไซค์เข้าไปจำนวนมาก เพราะในถ้ำ คาร์บอนไดออกไซค์ จะลอยจากพื้นสูงระดับเข่าจนถึง2 เมตร

ซึ่งแต่ละโถง คาร์บอนไดออกไซค์ลอยสูงไม่เท่ากัน แต่ทั้งนี้ เชื่อว่า ตามสัญชาติญาณคนเพื่อเอาตัวรอด จะปีนหาที่สูง เพื่อหนีน้ำและหาอากาศหายใจ ส่วนตัวยังเชื่อว่า 13ชีวิต ยังปลอดภัยแต่อาจจะอ่อนเพลียเพราะขาดอาหาร