หลังมีข่าวดีว่าพบน้องๆ ทีมหมูป่า อะคาเดมีและโค้ชทั้ง 13 คน ห่างจากพัทยาบีชไปประมาณ 400 เมตร โดยทุกคนปลอดภัยดี ท่ามกลางความยินดีของคนทั้งประเทศและทีมกู้ภัยรวมถึงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ที่ได้ร่วมปฏิบัติภารกิจในครั้งนี้ แต่ที่น่ากังวลคือสภาพร่างกายของทุก ซึ่ง นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ อาจารย์แพทย์โรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้อธิบายถึงภาวะร่างกายเมื่อต้องขาดอาหารเป็นเวลานาน
ในช่วงยุคน้ำแข็งหลายครั้งที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาอันเลวร้ายของมนุษยชาติที่ต้องพบกับความอดอยากแสนสาหัส แต่เป็นช่วงเวลาสำคัญทางประวัติศาสตร์ของเผ่าพันธุ์มนุษย์ที่มีวิวัฒนาการโดยการคัดเลือกสายพันธุ์ทางธรรมชาติ (natural selection) ให้ร่างกายเราปรับตัวมีกลไกมากมายเพื่อมีชีวิตรอดเมื่อต้องขาดอาหารเป็นเวลานาน
เมื่อเริ่มขาดอาหาร น้ำตาลกลูโคสในกระแสเลือด อันเป็นเชื้อเพลิงหลักของ อวัยวะต่างๆของร่างกาย (ยกเว้นเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ ที่ภาวะปกติใช้กรดไขมันเป็นเชื้อเพลิงหลัก) เริ่มลดต่ำลง สิ่งที่เกิดขึ้นสิ่งแรกคือ อาการหิว สมองสั่งให้เราหาอาหารมากินเพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือด
แต่หากไม่มีอาหารกิน ร่างกายก็จะสลาย Glycogen ซึ่งเป็นเหมือนตู้กับข้าว ที่สะสมเก็บน้ำตาลในตับและกล้ามเนื้อสลายออกมาเป็นน้ำตาลในกระแสเลือด (กระบวนการ glycogenolysis) ให้อวัยวะต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งสมองใช้ แต่หากยังคงขาดอาหารต่อไปเป็นวันๆ Glycogen ที่สะสมในตับและกล้ามเนื้อเริ่มร่อยหรอ ร่างกายก็มีแผน สำรองโดยเริ่มหันมาสร้างน้ำตาลให้สมอง (Gluconeogenesis) จาก กรดอมิโน และ กลีซอรอล และสลายไขมันที่สะสมออกมา เป็นกรดไขมัน (fatty acid) และ ketone เพื่อให้อวัยวะอื่นๆใช้เป็นเชื้อเพลิงแทนน้ำตาล
หากการขาดอาหารยังดำเนินต่อไปหลายสัปดาห์ และเมื่อไขมันที่สะสมเริ่มหมด ร่างกายก็ต้องหันมาสลายโปรตีนจากอวัยวะต่างๆมากขึ้น ซึ่งจะมีผลทำให้การทำงานของอวัยวะภายในต่างๆเริ่มทำงานผิดปกติ ช่วงนี้ ระบบการเผาผลาญพลังงานลดลงเพื่ออนุรักษ์พลังงาน อัตราการเต้นของหัวใจจะลดลง ความดันโลหิตลดลง
ปรากฏการณ์นี้ไม่ต่างกับ กระท่อมไม้ในเมืองหนาวที่เมื่อไม้ฟืนหมด ผู้อาศัยก็ไปเอาโต๊ะ ตู้ เก้าอี้ไม้ มาใส่เตาผิงเผื่อสร้างความอบอุ่น และพอ เฟอร์นิเจอร์หมดก็เริ่มเอาประตูหน้าต่างไม้มาเผา และในที่สุดก็ต้องอาเสาบ้านมาเผา ก่อนที่บ้านทั้งหลังจะพังครืนลงมา
อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้ การปรับตัวแผนสุดท้ายของร่างกายคือ สมองที่ปกติจะไม่ยอมใช้เชื้อเพลิงอื่นใดนอกจากน้ำตาลกลูโคส ก็จะยอมหันมาใช้ ketone แทน น้ำตาล ช่วยชะลอการสลายของโปรตีนทั่วร่างกาย ทำให้ยืดชีวิตออกไปได้อีกระยะหนึ่งส่วนคำถามที่ว่า มนุษย์เราอดอาหาร (โดยมีน้ำดื่ม) จะมีชีวิตอยู่ได้นานเพียงใดนั้น
เราอาจดูจากสถิติการอดอาหารประท้วงที่ผ่านมา มหาตมะ คานธี ซึ่งตอนนั้นท่านอายุ 74 ปี มีร่างกายผอมอยู่แล้ว ท่านอดอาหารประท้วงนาน 21 วัน ท่านยังมีชีวิตรอด Bobby Sands นักโทษชาวไอร์แลนด์เหนือ อดอาหารประท้วงรัฐบาลอังกฤษ มีชีวิตอยู่ถึง 66 วัน โดยทั่วไปเราเชื่อว่ามนุษย์มีชีวิตรอดโดยไม่กินอาหารได้ราวเกือบ 2 เดือน
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขนี้ก็ขึ้นกับปัจจัยอีกหลายอย่าง ตั้งแต่ลักษณะพันธุกรรม ปริมาณไขมันสะสม การเจ็บป่วยโดยเฉพาะการติดเชื้อที่จะเพิ่มอัตราการเผาผลาญพลังงาน ปัจจัยอีกอย่าง ก็คือ สภาพจิตใจ หากยังมีความหวัง ไม่ท้อแท้ โอกาสมีชีวิตรอดก็มีมาก ร่างกายมนุษย์ มันสุดยอดมาก แต่สำคัญที่สุด ก็คือสภาพจิตใจครับ