Home »
Uncategories »
ปวดท้องบ่อยๆอย่าปล่อยให้เรื้อรัง 10 สมุนไพรบรรเทาโรคกระเพาะ
ปวดท้องบ่อยๆอย่าปล่อยให้เรื้อรัง 10 สมุนไพรบรรเทาโรคกระเพาะ
สมุนไพรโรคกระเพาะอาหารที่หาได้ใกล้ตัว และบางชนิดยังเป็นผลไม้รักษาโรคกระเพาะอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย ช่วยลดการรับประทานยารักษาโรคกระเพาะที่ค่อนข้างกินยากสำหรับบางคน
โรคกระเพาะอาหารเกิดขึ้นได้กับทุกคน ยิ่งในสมัยนี้ยิ่งเป็นกันมากขึ้น โดยเฉพาะวัยทำงานที่อาจรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา หรือมีความเครียดจากการทำงานจนส่งผลให้กรดในกระเพาะอาหารแผลงฤทธิ์จนเกิดอาการของโรคกระเพาะอาหารขึ้นได้ ซึ่งการรักษาโรคกระเพาะอาหารส่วนมากก็จะได้รับยาลดกรด ยาเคลือบแผลในกระเพาะอาหาร ที่บางคนบอกว่ากินยากเหลือเกินไม่ว่าจะเป็นชนิดเม็ดที่ต้องเคี้ยวหรือชนิดน้ำที่รสฝาดติดลิ้นติดคอ ดังนั้นกระปุกดอทคอมจึงขอนำเสนอสมุนไพรรักษาโรคกระเพาะอาหาร ที่ช่วยบรรเทาอาการได้จริง และยังเป็นสมุนไพรใกล้ตัว รักษาไม่ยากด้วยนะ
1. ขมิ้นชัน
น้ำมันหอมระเหยในขมิ้นชันมีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดท้อง ท้องอืด แน่นจุกเสียด ขับลม จึงนิยมนำขมิ้นมาใช้สมานแผลในกระเพาะอาหาร ทำความสะอาดลำไส้ รักษาโรคกระเพาะอาหาร โดยคนที่ซื้อขมิ้นชันแบบผงมารับประทานเอง ให้ใช้ขมิ้นชันผง 1 ช้อนชา ผสมน้ำ 1 แก้ว (ไม่เต็ม) แล้วรับประทาน ขมิ้นชันที่ไหลผ่านอวัยวะภายในต่าง ๆ สามารถบำรุงอวัยวะส่วนนั้นได้ด้วย คือ ผ่านลำคอ จะช่วยขับไล่ไรฝุ่นที่ลำคอ, ผ่านปอดจะช่วยดูแลปอดให้หายใจได้ดีขึ้น, ผ่านม้ามจะช่วยลดไขมัน ไม่ให้น้ำเหลืองเสีย, ผ่านกระเพาะอาหารจะช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร, ผ่านลำไส้จะช่วยสมานแผลในลำไส้ และผ่านตับก็จะช่วยบำรุงตับ ล้างไขมันในตับ
2. ว่านหางจระเข้
วุ้นสดของว่านหางจระเข้มีสรรพคุณช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหารได้ดี โดยวิธีใช้ให้เลือกใช้ใบล่างสุดของต้นก่อน นำมาล้างน้ำให้สะอาด ปอกเปลือกสีเขียวออก ล้างน้ำยางสีเหลืองออกให้หมด เพราะอาจระคายเคืองผิวหนังและทำให้มีอาการแพ้ได้ จากนั้นขูดเอาวุ้นใสมารับประทานวันละ 2 ครั้ง
3. กระเจี๊ยบเขียว
สรรพคุณเด่นของกระเจี๊ยบเขียวคือเป็นสมุนไพรช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหารได้ โดยในปี 2547 มีงานวิจัยที่พบว่า สารประกอบไกลโคไซเลต (Glycosylated compounds) ซึ่งประกอบด้วยโพลีแซกคาไรด์ (Polysaccharides) และไกลโคโปรตีน (Glycoproteins) ในกระเจี๊ยบเขียว มีฤทธิ์ยับยั้งความสามารถของเชื้อแบคทีเรีย เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลริ (Helicobacter pylori) ในการเกาะเยื่อบุผิวของกระเพาะอาหาร ซึ่งแบคทีเรียตัวนี้เองที่เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร แต่สารไกลโคไซเลต จะมีฤทธิ์ลดลงเมื่อถูกความร้อน ดังนั้นตำรับยาสำหรับรักษาโรคกระเพาะจึงให้ใช้ฝักอ่อนกระเจี๊ยบเขียวหั่นตากแดด บดให้ละเอียด กินครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ โดยนำมาละลายในน้ำ นม น้ำผลไม้ หรืออาหารอ่อน ๆ กินวันละ 3-4 ครั้ง หลังอาหาร (เวลาละลายจะได้น้ำยาเหนียว ๆ)
4. ลูกยอ
ลูกยอมีฤทธิ์ขม โดยสรรพคุณเด่นของลูกยอจะช่วยรักษาโรคกรดไหลย้อนได้ดีกว่า ทว่าผลจากการใช้ลูกยอรักษาโรคกรดไหลย้อนยังดีต่อกระเพาะอาหารด้วย เนื่องจากสารในลูกยอจะช่วยเร่งการสมานแผลของกระเพาะอาหาร ทั้งยังช่วยลดการอักเสบเฉียบพลันของกระเพาะอาหารเนื่องจากฤทธิ์ของแอลกอฮอล์อีกด้วย
5. เปล้าน้อย
เปล้าน้อยเป็นสมุนไพรที่มีสาร Disterpene alcohol มีฤทธิ์สมานแผลในกระเพาะอาหารได้เป็นอย่างดี และยังสามารถรักษาแผลในกระเพาะอาหารเนื่องจากสามารถกระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อบุลำไส้ที่เสียไป ทำให้แผลในกระเพาะอาหารหายเร็วขึ้น รวมทั้งเปล้าน้อยยังมีสรรพคุณช่วยลดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารได้อีกด้วยนะคะ โดยวิธีใช้ให้นำใบอ่อนไปตากแห้ง บดให้ละเอียด และนำมาต้มหรือชงน้ำดื่ม
6. หัวปลี
หัวปลีไม่ได้เป็นแค่สมุนไพรบำรุงน้ำนมของแม่ลูกอ่อนเท่านั้น แต่ยางจากหัวปลียังมีฤทธิ์ช่วยสมานแผลในกระเพาะอาหารให้เราได้ด้วย โดยวิธีใช้ให้นำปลีกล้วยน้าว้ามาเผา แล้วบีบเอาแต่น้ำ กะให้ได้ประมาณครึ่งแก้ว ดื่มก่อนอาหาร รสชาติอาจจะกินยากหน่อยแต่โบราณบอกว่า ถ้ากินติดต่อกันได้ 3 วันอาการของโรคกระเพาะอาหารอาจหายขาดเลยเชียวล่ะ
7. มะขามป้อม
มะขามป้อมมีรสเปรี้ยว ฝาด ขม รสชาติคล้ายสมอไทย โดยมะขามป้อมเองก็มีสรรพคุณช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร ลดกรดเกินในกระเพาะอาหาร และบำรุงอวัยวะในร่างกายได้หลายส่วนรวมทั้งกระเพาะอาหารด้วย ซึ่งวิธีกินมะขามป้อมรักษาโรคกระเพาะให้กินผงลูกมะขามป้อมวันละ 4 ครั้ง ครั้งละ 1-2 ช้อนชา ก่อนอาหารและก่อนนอน
8. กล้วย
ในเนื้อและเปลือกกล้วยมีเซโรโทนิน ซึ่งเป็นสารที่มีผลยับยั้งการหลั่งของน้ำย่อยของกระเพาะอาหาร และกระตุ้นให้ลำไส้เล็กบีบตัวมากขึ้น จึงช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหารได้ โดยวิธีใช้ก็แค่นำกล้วยน้ำว้าดิบที่แก่จัดทั้งลูก (ทั้งเปลือก) นำมาล้างน้ำให้สะอาดแล้วหั่นขวางลูกเป็นชิ้นบาง ๆ เหมือนหั่นแตงกวาใส่ข้าวผัด เสร็จแล้วนำไปเกลี่ยใส่ถาด อย่าให้ชิ้นกล้วยซ้อนกันมากนัก ตากแดดจัด ๆ สักสามแดด แล้วจึงนำมาใส่ครกตำให้ละเอียด โดยนำมาตำในขณะเก็บจากแดดใหม่ ๆ เพราะกล้วยยังกรอบอยู่จะทำให้ตำละเอียดง่าย จากนั้นเก็บใส่ขวดปากกว้างที่มีฝาปิดได้สนิท ใช้ครั้งละ 2 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำค่อนแก้วกินหลังอาหารทุกมื้อ ก็จะช่วยให้อาการดีขึ้น
9. ฝรั่ง
ฝรั่งมีสารแทนนินอยู่มาก สารนี้มีฤทธิ์ฝาดสมาน และสารแทนนินในฝรั่งยังยับยั้งการลุกลามของเชื้อโรค ช่วยสมานท้องและลำไส้ โดยช่วยลดอาการอักเสบของกระเพาะลำไส้ และช่วยลดอาการคลื่นไส้อาเจียน ทั้งยังช่วยอาการเกร็งตัวของลำไส้ ทำให้อาการปวดท้องบรรเทาลงได้ ดังนั้นใครเป็นโรคกระเพาะอาหารก็กินฝรั่งบรรเทาอาการได้เลยค่ะ
10. กะหล่ำปลี
ผักอย่างกะหล่ำปลีมีวิตามินซีสูง อีกทั้งในกะหล่ำปลียังมีสารอาหารกลูตามีนช่วยกระตุ้นให้กระเพาะอาหารสร้างเยื่อบุผนังกระเพาะได้รวดเร็ว ทำให้แผลในกระเพาะอาหารและลำไส้หายได้เร็ว จึงใช้เป็นอาหารในการรักษาโรคกระเพาะได้ดี โดยวิธีกินแนะนำให้กินสด หรือคั้นเป็นน้ำกะหล่ำปลีแล้วดื่ม ซึ่งจะคงคุณค่าสารอาหารได้ดีกว่านำไปปรุงสุก
ใครที่ไม่ค่อยโอเคกับยาเคลือบกระเพาะทุกชนิด แต่ก็อยากรักษาโรคกระเพาะให้หายขาด 10 สมุนไพรรักษาโรคกระเพาะเหล่านี้ก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีและน่าลองอยู่ไม่น้อยนะคะ