“หอยขม” หาซื้อได้ยากตามท้องตลาด จึงเป็นอีกหนึ่งสัตว?ที่จะสามารถสร้างรายได้ให้คุณได้อย่างงดงาม แม้ว่าจะสามารถหาได้ตามแหล่งน้ำธรรมชาติ แต่บางพื้นที่หอยขมเป็นของหายาก และมีกำลังความต้องการสูง นี่จึงเป็นโอกาสดีสำหรับผู้ที่อยากริเริ่มช่องทางทำมาหากินช อย่างเช่น หนุ่มเชียงรายคนนี้ ใช้พื้นที่เพียง 5*10 เมตร เลี้ยงหอยขมในบ่อปูนซีเมนต์ 12 บ่อ แต่สามารถสร้างรายได้ต่อเดือนถึงครึ่งแสน
แรกเริ่มเดิมที คุณพงษ์ศักดิ์ เพียงแค่บังเอิญนำหอยขมไปปล่อยไว้ในบ่อปลานิลที่เลี้ยงไว้ วันหนึ่งเกิดอยากทำหอยขมเป็นกับข้าวจึงลองไปดูในบ่อนั้น ปรากฏว่าหอยมีชีวิตรอดและขยายพันธุ์ไปอีกมากมาย จึงได้ทำการทดลองเลี้ยง ผลปรากฏว่าเติบโตได้เร็ว จึงนำไปสู่การเลี้ยงหอยขมในวงบ่อซีเมนต์เป็นอาชีพหลัก
อาชีพเดิมของครอบครัวคือทำนา แต่เนื่องจากราคาข้าวตกต่ำ จึงหันมาเลี้ยงปลานิลเพิ่ม เขาเริ่มจาก ขุดบ่อขนาด 10*20 เมตร ระหว่างนั้นก็ลองปล่อยหอยขม เริ่มศึกษารายละเอียดและตัดสินลองเลี้ยงโดยใช้บริเวณรอบบ้าน มีทั้งหมด 12 วงบ่อ มาถึงวันนี้ปรากฏว่าทุกเดือนเขามีรายได้จากการเลี้ยงในพื้นที่แคบตรงนี้เดือนหนึ่งตกเกือบ 5 หมื่นบาท พงษ์ศักดิ์กล่าว
เขาบอกด้วยว่าการเลี้ยงหอยดูแลง่าย ไม่ต้องดูแลมาก แถมยังมีเวลาไปทำอาชีพอื่นได้ เช่น นำปลานิลไปขายที่ตลาดปลาบางเลน จ.นครปฐม เพราะหอยขมไม่ต้องดูแลอะไรมาก “หอยขมนิสัยชอบอยู่นิ่ง เอามาเลี้ยงในวงบ่อซีเมนต์มา 2 ปีพบว่า โอกาสรอดสูงกว่าบ่อดิน และโตเร็วกว่าในธรรมชาติด้วย เพียงแต่ให้อาหารพวกตะไคร่น้ำ ที่เกาะตามใบมะพร้าว ใบไม้หมัก
เสริมด้วยอาหารปลาดุกบดละเอียดผสมข้าวเหนียว จะช่วยทำให้หอยขมโตเร็ว ผมคำนวณดูจากขนาดและน้ำหนักจะโตกว่าในธรรมชาติถึง 1 เดือน” เขายืนยัน หลังจากได้รับความสำเร็จจากการเลี้ยงหอยขมในบ่อซีเมนต์ ช่วงนี้เขากำลังขยายพันธุ์หอยขมด้วยการเลี้ยงในบ่อดินดูบ้าง แต่สำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นหรือเพียงอยากทดลองดูก่อนขอแนะนำว่าให้เลี้ยงในบ่อซีเมนต์จะง่ายกว่า
แม้บ่อดินความเป็นธรรมชาติมากกว่า แต่การจัดการยากกว่าเพราะมันสามารถเคลื่อนที่ได้อย่างอิสระ สำหรับวิธีการเลี้ยงหอยขมในวงบ่อซีเมนต์นั้น ง่ายๆ ให้เทปูนตรงก้นวงบ่อจนปิดสนิท ต่อท่อระบายน้ำไว้ด้านข้างเป็นลักษณะเกลียวหมุนมีฝาปิด ไว้ถ่ายน้ำ จากน้ำหั่นต้นกล้วยใส่ลงไปแช่ 1 สัปดาห์ ถือเป็นการหมักอาหาร และดูดซึมปูนออกจากน้ำ ไม่เช่นนั้นหอยขมจะตายได้ เมื่อผ่านไป 1 สัปดาห์ให้ใส่ดินเหนียวสูง 1 นิ้ว
จากนั้นใส่ทางมะพร้าวตามลงไปเพื่อเป็นแหล่งอาหาร แล้วจึงปล่อยหอยขมลงบ่อได้ในอัตรา ประมาณ 3-5 กิโลกรัม/วงบ่อซีเมนต์ ใส่น้ำลงไปให้ลึกราว 20-30 เซนติเมตร รอจนน้ำนิ่งแล้วจึงใส่น้ำลงไปอีกให้ได้น้ำสูง 50 เซนติเมตร วิธีการนี้จะช่วยให้น้ำไม่ขุ่นเพราะหอยขมต้องการน้ำสะอาด และน้ำนิ่งด้วย โดยธรรมชาติหอยขมจะเกาะตามกิ่งไม้และกินตะไคร่น้ำตามกิ่งไม้นั้นๆ
จึงควรใส่ทางมะพร้าวให้หอยขม หรือกิ่งไม้ใบไม้ที่สามารถหาได้เพื่อให้เกิดตะไคร่น้ำและเพื่อไว้เป็นที่หลบด้วย “พวกพวกนี้ถ้าน้ำขุ่นหอยขมจะไม่ยอมกินอาหารนานถึง 3 วัน และหอยขมจะอยู่แค่ความสูงของน้ำออกมารับแสงและออกซิเจน พอเลี้ยงได้ 3 เดือน ให้แยกออกมาส่วนหนึ่งเพื่อขยายพันธุ์ส่วนบ่อเดิมก็เลี้ยงต่อไปอีก 2 เดือน จึงจับไปขายได้” การจับหอยขายนั้น แบ่ง 6 บ่อแรกตักหอยได้วันละ 50 กิโลกรัม สามารถตักได้นานครึ่งปี
เมื่อตักหมดจึงปล่อยหอยลอตใหม่ลงไปเลี้ยง แล้วจึงจับหอยอีก 6 บ่อที่เหลือ ในช่วงครึ่งปีทำแบบนี้วนไป ทำให้เขามีรายได้ทุกวันเฉลี่ยเป็นเดือนแล้วตกราว 4.8-5 หมื่นบาท การเลี้ยงหอยขมในวงบ่อซีเมนต์ ควรเปลี่ยนน้ำให้น้ำสะอาดอยู่เสมอ หากใช้น้ำประปาต้องพักให้คลอรีนก่อน และอย่าให้หอยขมโดนเกลือเป็นอันขาด เพราะอาจทำให้หอยตาย
เทคนิคพิเศษคือ ควรปล่อยปลาหางนกยูงลงไปในบ่อหอยขมด้วยเพื่อช่วยกินลูกน้ำที่จะมารบกวนหอยขมอาจทำให้เป็นโรคได้ หากบ่อที่เลี้ยงปลาหางนกยูงด้วยจะเปลี่ยนน้ำทุก 1 เดือน/ครั้ง เมื่อถ่ายน้ำออกหมดให้ค่อยๆ ใส่น้ำลงไปใหม่เหมือนการใส่ในครั้งแรก ส่วนดินใช้ดินเดิม หลังจากเปลี่ยนน้ำจนน้ำสะอาดแล้ว ให้ใส่อีเอ็มผสมลงในน้ำด้วย 1 ฝา เพื่อช่วยให้หอยโตไวขึ้นและป้องกันโรคได้ แต่ถ้าไม่ได้ใส่ปลาหางนกยูงไว้จะเปลี่ยนสัปดาห์ละครั้งเพื่อป้องกันยุงลงไปไข่
การเลี้ยงหอยขมในวงบ่อซีเมนต์ มีโอกาสเป็นโรคน้อยกว่าบ่อดิน เนื่องจากเปลี่ยนน้ำได้ง่ายกว่า แต่ต้องสังเกต อาการของหอยขมด้วย หากหอยไม่ค่อยเดินหรือไม่ค่อยกินอาหาร แปลว่าเป็นโรคที่เกิดจากน้ำเสีย ที่มักจะนอนหงายเปิดฝาหน้าและตายในที่สุด ฉะนั้นควรสังเกตพฤติกรรมของมันอยู่เสมอ การเลี้ยงหอยขมในวงบ่อซีเมนต์ ใช้พื้นที่น้อยแถมรายได้ดี เป็นอีกหนึ่งในอาชีพที่น่าสนใจ
ขอบคุณสำหรับคำแนะนำและเทคนิคดีๆ ถ้าหากใครอยากจะลองลงทุนแต่ยังไม่มีไอเดียก็ลองนำหอยขมไปเป็นตัวเลือกนะ แต่ก่อนลงทุนควรศึกษาให้ดีถี่ถ้วยเสียก่อน ถ้ามั่นใจแล้วก็ลงมือทำเลย ขอให้ผู้เริ่มต้นธุรกิจประสบความสำเร็จกันทุกๆ ราย
เรียบเรียงโดย : Postsara
ขอขอบคุณ : บ้านเกษตร