นางฟ้าชุดขาว “คุณโย” พยาบาลผู้บุกลงพื้นที่ดูแลผู้ป่วยด้วยใจศรัทธา ต้นแบบคนวงการแพทย์ไทย

วันนี้เรามีเรื่องราวสุดน่าประทับใจ ในคราบของ “นางฟ้าชุดขาว” นั่นก็คือ “คุณโย” พยาบาลผู้บุกลงพื้นที่ดูแลผู้ป่วยด้วยใจศรัทธา ต้นแบบคนวงการแพทย์ไทย

เจาะเบื้องหลังความคิด “ข้าราชการดีเด่น” คนต้นแบบวิชาชีพพยาบาลและการแพทย์ ผู้ทุ่มทั้งเวลา พลังสมอง แรงกายและแรงใจ เพื่อฉุดชีวิตเพื่อนมนุษย์ให้หลุดพ้นจากโคลนตม ผ่านบทบาท “นางพยาบาลชุมชนนักพัฒนา” ผู้เยียวยาบาดแผลทางสังคมด้วยใจศรัทธา จนใครๆ พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า สิ่งที่เธอทำช่างน่ายกย่อง และเป็นยิ่งกว่าแค่คำว่า “หน้าที่” อย่างแท้จริง

มั่นใจได้เลยว่า หลังจากได้ทำความรู้จักกับเจ้าของชื่อ “โย-อุบลวรรณา เรือนทองดี” โลกของ “พยาบาล” ที่หลายคนคุ้นชินจะเปลี่ยนไปตลอดกาล คือเปลี่ยนจากภาพการให้บริการในสถานพยาบาลตามกะเวลาที่ได้รับมอบหมาย กลายเป็นภาพของการลงพื้นที่ดูแลผู้ป่วยโดยไร้กฎเกณฑ์ใดๆ

ไม่มีกรอบแม้แต่คำว่า “นางพยาบาล-คนไข้” เข้ามาครอบไว้ แต่กลับเปี่ยมไปด้วยความอบอุ่นระหว่างสถานะ “พี่-น้อง” “ลูกหลาน-ตายาย” อย่างที่หลายชีวิตในชุมชน อ.บางปลาม้า มีโอกาสได้รับรู้ถึงความรู้สึก จนถึงขั้นซึมลึกลงไปถึงหัวใจ

เช่นเดียวกับเรื่องราวน่าประทับใจที่เกิดขึ้นกับ “ป้าแอ๊ด” หนึ่งในคนไข้ในความรับผิดชอบของ “นางพยาบาลผู้ให้” รายนี้ ที่ถูกฟื้นชีวิตให้กลับคืนมาใหม่ จาก “ผู้ป่วยติดเตียง” นอนแน่นิ่งด้วยโรคทางใจ ให้กลับมาลุกเดินสร้างประโยชน์ให้สังคม

“ลักษณะอาการของเขาตามการวินิจฉัยทางการแพทย์แล้วก็คือ “โรคซึมเศร้าขั้นรุนแรง” ค่ะ ก่อนหน้านี้ที่มาพบตั้งแต่ช่วงแรกๆ เขาก็จะมีอาการนอนนิ่งเฉย นิ่งชนิดที่เป็นผักเลย ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และไม่ตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อม ใครจะพูดอะไรก็ไม่หือไม่อือ ไม่สบตา เหมือนสภาพทางสังคมของเขาถูกตัดขาดไป ถึงกับต้องคอยให้คนมาดูแล พลิกตะแคงป้อนข้าวให้

คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้ผู้ป่วยที่ปิดรับการเข้าถึงจากบุคคลภายนอก หรือแม้แต่กับญาติๆ ภายในบ้านเองไปแล้ว ได้กลับมาเปิดหูเปิดตารับรู้โลกแห่งความเป็นจริงอีกครั้ง แต่นางพยาบาลหัวใจแกร่งรายนี้ก็ค่อยๆ ทุบทะลวงกำแพงใจเหล่านั้นเข้าไป ด้วยการคอยกระตุ้นผ่านวิธีสร้างกำลังใจในหลากหลายรูปแบบ

ถามว่าอะไรทำให้แกเปลี่ยนไปได้ ถ้าให้ประเมินจากมุมมองของพยาบาล พี่ก็คิดว่ามันเป็นเรื่องของสัมพันธภาพระหว่างพี่กับพี่แอ๊ด ที่มันเกิดความไว้วางใจกัน มีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน มีความรู้สึกเป็นพี่เป็นน้องกัน และความสม่ำเสมอที่เราเข้ามาหาเขา

หลังจากนั้นเขาก็รู้สึกผ่อนคลาย รู้สึกสนุกมากขึ้น เพราะรู้สึกเหมือนมีเพื่อนมาคุย ถ้าวัดจากการประเมินในฐานะพยาบาลก็อาจจะตีความไปได้ว่า มันคงเป็นเรื่องของการรู้สึกมีตัวตน ทำให้เห็นคุณค่าในตัวเอง จากก่อนหน้านี้ที่เขาอาจจะรู้สึกว่าไม่เคยมีตัวตนในสังคม”

คือพี่อยากให้เขาได้มีตัวตนในสังคม อยากให้คนภายนอก คนที่อยู่ในสังคมคนอื่นๆ ได้รู้จักพี่แอ๊ด ได้เห็นคุณค่า ตัวตน และความสามารถของพี่เขา ก็เลยบอกพี่แอ๊ดว่าจะชวนไปสอนภาษาอังกฤษ พี่อยากให้พี่เขาได้ดึงความสามารถของตัวเองที่มีอยู่ออกไปใช้ ให้เป็นประโยชน์กับคนอื่น ซึ่งพี่เขาก็รับปากแล้วนะคะว่าจะออกไปสอนให้

ต้องบอกว่าเคสของพี่แอ๊ด ถือว่าเป็นเคสที่เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น จนเกินความคาดหมายของพี่อยู่เหมือนกัน เพราะจากที่เขาเป็นคนไม่สุงสิงกับใครเลย เราก็ทำให้เขาอยากลุกขึ้นมาช่วยคนอื่นได้แล้ว”

บทบาทการทำงานจากตำแหน่ง “พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ หัวหน้างานส่งเสริมสุขภาพ กลุ่มงานเวชปฏิบัติครอบครัวและชุมชน โรงพยาบาลบางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี” คงไม่มีใครวาดภาพออกว่าขอบข่ายความรับผิดชอบ ที่ผู้หญิงตัวเล็กๆ คนนึงต้องแบกรับไว้ จะขยายวงกว้างออกไปขนาดไหน

แต่เมื่อได้ตามรอยไปดูผลงานของ “หมอโย” ที่หลายๆ คนเรียกกัน จึงพอจะเข้าใจได้มากขึ้นว่า เหตุใด “นางพยาบาลชุมชนนักพัฒนา”รายนี้ จึงได้รับการยกย่องให้เป็น “ข้าราชการดีเด่น” ผู้อุทิศตนเพื่อส่วนรวม

เพราะไม่ใช่แค่เข้าไป “รักษา” อาการป่วยของชาวบ้านเท่านั้น แต่งานของเธอยังกินความหมายไปถึงการ “เยียวยา” ทุกช่องโหว่ปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตของพวกเขาเหล่านั้นด้วย

เช่นเดียวกับครอบครัวของ “ยายฉวีวรรณ” ที่เหลือเพียง 2 ชีวิต ตา-ยาย อาศัยอยู่ร่วมกัน ท่ามกลางความไม่พร้อมด้านสภาพแวดล้อม ทั้งตัวบันไดขึ้นบ้านที่ไม่มีราว แถมยังสูงชัน เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ไปจนถึงตัวห้องส้วมที่ยังคงเป็นส้วมนั่งยอง แทนที่จะเป็นส้วมชักโครกตามสุขอนามัย

“หลังจากที่พี่ได้ลงพื้นที่ไปดู พี่เลยเข้าไปคุยกับทางเทศบาลว่า สภาพความเป็นอยู่ของ 2 ตายายคู่นี้ มันไม่เหมาะสมเลย มันเสี่ยงต่อการหกล้ม วิธีการที่จะแก้ไขและป้องกันการหกล้มก็คือ การปรับสิ่งแวดล้อมที่จำเป็นก่อน ก็คือราวบันไดกับส้วม

พี่ก็เข้าไปบอกด้านบนตรงๆ เลยค่ะว่า เรามีโครงการแบบนี้อยู่นะ มีความจำเป็นต้องใช้วัสดุอุปกรณ์ในการก่อสร้างลักษณะนี้ ต้องการงบประมาณเท่านี้ เพราะทางหลวงเขาไม่มีเงินสนับสนุนตรงนี้มาให้ จนตอนนี้ทุกอย่างก็ได้รับการแก้ไขเรียบร้อยแล้ว”

สิ่งที่เธอได้ตอบแทนกลับมาหลังเข้าไปเยียวยา ไม่ใช่เพชรนิลจินดา แต่มันคือ “ความอิ่มเอมใจ” จึงทำให้งานที่ต้องประสานงาน ต้องแลกกับหงาดเหงื่อในระยะยาวแบบนี้ ไม่เคยสร้างคำว่า “เหนื่อย” ให้เกิดขึ้นเลยในความรู้สึกของเธอ

“ถ้าเราคิดว่ามันเหนื่อย งานทุกอย่างมันก็เหนื่อยค่ะ กินข้าวก็เหนื่อย นอนก็เหนื่อยได้ จริงๆ นะ (ยิ้ม) ที่เราได้ทำตรงนี้ มันคือความสุข คือความอิ่มเอมใจ

“ถามว่าเคยท้อไหมเวลาไม่ได้รับความร่วมมือจากคนอื่นๆ? ก็ต้องบอกว่าไม่เคยท้อเลยค่ะ (ยิ้ม) อาจจะเพราะพี่เป็นคนไม่ค่อยเก็บเอาอะไรมาคิดมาก แค่คิดว่าถ้าพี่ทำในหน้าที่ของพี่ โดยที่ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใคร พี่ก็มั่นใจว่าพี่จะทำมันต่อ

“กางเกงวิเศษ” ก็คืออีกหนึ่งนวัตกรรมที่เกิดจากหัวคิดสร้างสรรค์ของเธอคนนี้อีกเช่นกัน เป็นกางเกงที่ถูกออกแบบตัดเย็บมาเพื่อรองรับ“การตรวจมะเร็งปาดมดลูก” โดยเฉพาะ ทำให้ชาวบ้านที่เคยเขินอายเพราะต้องสวมผ้าถุง แล้วถกให้แพทย์ตรวจ มีความกล้าที่จะก้าวขาเข้ามาใช้บริการกันมากขึ้น เพราะกางเกงที่ช่วยแก้ปัญหาตัวนี้

 

“สมัยก่อนผู้หญิงเวลาไปขึ้นขาหยั่ง เขาก็ต้องใส่ผ้าถุง และต้องถกขึ้นมาหมด ทำให้ต้องโป๊ และพี่ก็เห็นปัญหาตรงนั้น ในฐานะของผู้หญิงด้วยกัน เรารู้ว่าเราไม่อยากโป๊ ก็เลยทำกางเกงวิเศษขึ้นมา

และตอนนั้นเป้า (จำนวนคนที่เข้ามาตรวจโรคมะเร็งปากมดลูก ตามกำหนดของกระทรวง) ของพี่ก็ต่ำมาก ต่ำถึงขนาดนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดต้องตามเรียกตัวพี่ทุกเดือน ก็เลยคิดว่าเราน่าจะลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างนึง แล้วพี่ก็คิดไปถึงเรื่องกางเกงระหว่างตรวจปากมดลูกขึ้นมา

ตัวกางเกงก็เป็นกางเกงธรรมดานี่แหละค่ะ ที่เจาะตรงกลาง แล้วก็มีผ้าเตี่ยวปิดด้านหน้า ซึ่งพอนำมาใช้มันก็ได้ผลจริงๆ เพราะหลังจากนั้นคนก็มาตรวจมะเร็งปากมดลูกกับพี่เยอะขึ้น จนเป้าหมายหรือจำนวนคนที่ตั้งเอาไว้ก็ครบ ทำให้พี่ไม่ต้องถูกเรียกดูผลงานเพราะได้เป้าคนตรวจต่ำเหมือนเดิมอีก

พอตรวจพบปุ๊บ เราก็ส่งตัวเขาไปตรวจรักษาต่อที่โรงพยาบาล ทำให้คุณภาพชีวิตเขาดีขึ้น คนอื่นเขาเรียกว่ามันเป็นนวัตกรรมที่เราคิดค้นขึ้นมา แต่พี่เรียกว่ามันเป็น “เครื่องมือพิทักษ์สิทธิสตรี” ในการตรวจมะเร็งปากมดลูก ซึ่งได้จดสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว

สำหรับพี่แล้ว การจะทำให้เกิดผลได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ หลักๆ เลยก็ต้องขึ้นอยู่กับ “วิธีคิดของคนทำงาน” เป็นอย่างแรกเลยที่สำคัญที่สุด ต่อมาก็คือ “มุมมองของคนปฏิบัติที่มีต่อสิ่งที่เขาทำ” คือถ้าเขาบอกว่า เขาทำงานแค่ 8 ชั่วโมงตามเวลาราชการก็พอ คือเข้า 8 โมงเช้า แล้วไปสิ้นสุด 4 โมงเย็น ผลที่ออกมาก็จะได้อีกแบบนึง

ในขณะเดียวกันที่เรามองว่า เราไม่ได้เอาตัวเวลามาเป็นตัวกำหนด แต่เรามองไปที่เป้าหมายเป็นหลัก เพราะฉะนั้น ทำยังไงก็ได้ให้มันถึงเป้าหมาย เวลาที่ใช้จะเกินหรือจะกินเวลาชีวิตเราไปเท่าไหร่ เราก็ไม่ได้มานั่งคิดตรงนั้น

หรือแม้แต่เรื่องของวิธีการ ทางกระทรวงไม่ได้มานั่งกำหนดว่า คุณต้องทำตามนี้นะ 1-2-3-4-5 ตามลำดับ คือเขาอาจจะมีการกำหนดคร่าวๆ มาไว้ให้บ้าง แต่พอลงพื้นที่ปฏิบัติจริง คนทำงานต้องตีโจทย์เองให้แตก และคิดวิธีให้ออกเองว่า ฉันจะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ยังไง นี่คือวิธีการทำงานของพี่นะคะ พี่จะคิดว่าพี่จะทำยังไงให้ถึงเป้าหมาย

ถ้าพี่ได้รับมอบหมายอะไร พี่จะพยายามทำมันอย่างเต็มที่ ถ้าทำวิธีแรกแล้วยังไม่ได้ ก็ต้องลองย้ายไปอีกวิธี หรือถ้าเปลี่ยนวิธีแล้ว ยังทำไม่สำเร็จอีก ก็ค่อยลองไปขอความช่วยเหลือจากคนอื่น และเมื่อไหร่ก็ตามที่เราเริ่มมีอคติก่อนที่จะลงมือทำ ก็จะบอกตัวเองตลอดว่า ถ้าไม่ลองทำแล้วจะรู้เหรอว่า มันจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จเพราะฉะนั้น เราต้องลองทำ!!”

ชมคลิป

 

แหล่งที่มา: ฅนจริง ใจไม่ท้อ