กยศ.แถลงกรณี “ครู” ถูกลูกศิษย์เบี้ยวหนี้กยศ.



เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ที่อาคารเอไอเอ แคปปิตอล เซ็นเตอร์ นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กล่าวในการแถลงข่าวว่า จากกรณีที่ น.ส.วิภา บานเย็น ผู้บริหารโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดกำแพงเพชร ได้เป็นผู้ค้ำประกันให้แก่นักเรียนที่เป็นผู้กู้ยืมตั้งแต่ปี 2541-2542 จำนวน 60 ราย แต่มีลูกศิษย์ที่ค้างชำระหนี้ กยศ.จนถึงขั้นบังคับคดีกับครูที่เป็นผู้ค้ำประกันนั้น กองทุนได้ตรวจสอบสถานะคดีของผู้กู้ยืมที่ น.ส.วิภาได้เป็นผู้ค้ำประกันแล้ว พบว่า มี 60 ราย จากจำนวนดังกล่าว มีผู้กู้ที่ชำระหนี้ปิดบัญชีเรียบร้อยแล้ว 29 ราย ชำระหนี้ตามปกติ 10 ราย ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งสิ้น 21 ราย ในจำนวนคดีที่ถูกฟ้องร้องมีการยึดทรัพย์แล้ว 4 ราย หลังการที่ฟ้องคดีได้มีการสืบทรัพย์ ซึ่งทั้ง 4 รายนี้ กยศ.ไม่พบทรัพย์ของจำเลย แต่พบทรัพย์ของครูวิภา จึงได้ดำเนินการยึดทรัพย์ของ น.ส.วิภาทั้ง 4 คดี เนื่องจาก น.ส.วิภาไม่มีเงินชำระหนี้ในส่วนที่ค้ำประกัน

"เพื่อช่วยเหลือครูวิภา กยศ.จึงร่วมมือกับสำนักงานบังคับคดี จ.กำแพงเพชร ดำเนินการถอนการยึดทรัพย์ต่อไป และหากครูวิภาต้องการไล่เบี้ยคืนจากลูกศิษย์ กยศ.พร้อมในการจัดหาทนายเพื่อดำเนินการฟ้องร้องให้ โดยในส่วนคดีอีก 17 คดีที่เหลือนั้น อยู่ในขั้นตอนการบังคับคดี ซึ่งทั้ง 17 รายนี้ คิดเป็นเงินต้นที่ค้ำประกันประมาณ 190,000 บาท ยังไม่รวมดอกเบี้ย แต่หากคิดรวมดอกเบี้ยอยู่ที่ประมาณ 300,000 บาทนั้น อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้ กยศ.ประสานกับกรมบังคับคดีชะลอการยึดทรัพย์เพื่อช่วยเหลือครูวิภาเบื้องต้นแล้ว" นายชัยณรงค์กล่าว

นายชัยณรงค์กล่าวอีกว่า กยศ.จะเร่งติดตามสืบทรัพย์อีก 17 ราย ผ่านสำนักงานประกันสังคม และกรมสรรพากร ว่าบุคคลเหล่านี้ทำงานอยู่ที่ไหน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ กยศ.มีอำนาจดำเนินการตาม พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2560 ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลผู้กู้ ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการนำร่องหักเงินจากข้าราชการกรมบัญชีกลางเป็นที่แรก และจะขยายผลเรียกเก็บเงินในข้าราชการสังกัดกระทรวงการคลัง และขยายไปยังหน่วยราชการที่อยู่ในระบบจ่ายตรงเงินเดือนของกรมบัญชีกลางภายในสิ้นปี 2561 และต้นปี 2562 กยศ.จะเริ่มดำเนินการหักเงินเดือนจากพนักงานที่กู้ยืมเงินกองทุน กยศ.ในบริษัทขนาดใหญ่ เป็นองค์กรนำร่อง คาดว่าภายในอีก 2 ปี กยศ.จะดำเนินการหักเงินเดือนของผู้กู้ กยศ.ทั้งภาครัฐ และเอกชนได้หมด

นายชัยณรงค์กล่าวต่อว่า กระบวนการกู้ยืมเงินนั้น กยศ.จะมีการปฐมนิเทศนักเรียน และผู้ปกครองเพื่อให้ความรู้ว่าในการชำระหนี้ ต้องทำอะไร ถ้าไม่ชำระหนี้จะเกิดอะไร และเมื่อเรียนจบจะปัจฉิมนิเทศอีกรอบหนึ่ง ทั้งนี้ หลังเรียนจบจะมีระยะเวลาปลอดหนี้ 2 ปี จึงจะเริ่มกระบวนการชำระหนี้ ซึ่งผู้กู้ 1 คน กู้เฉลี่ย 1 แสนบาท โดยกระบวนการติดตามหากผู้กู้ไม่ชำระ กองทุนจะส่งจดหมายแจ้งภาระหนี้ให้ผู้กู้ จากนั้นจะมีส่งจดหมายติดตามหนี้ค้างชำระให้แก่ผู้กู้ยืม และผู้ค้ำประกัน โดยมีเจ้าหน้าที่โทรศัพท์แจ้งเตือน ส่งข้อความ SMS และข้อความเสียง เพื่อให้ชำระหนี้ในระยะเวลาที่กำหนด



"หากผู้กู้ยืมไม่ได้รับจดหมายจากกองทุน สามารถตรวจสอบยอดหนี้ และสถานะของตนเองได้ทางเว็บไซต์ กยศ. www.studentloan.or.th และหากผู้กู้ยืมค้างชำระหนี้ จะต้องเสียเบี้ยปรับในอัตราร้อยละ 12 หรือ 18 ต่อปี ของเงินต้นงวดที่ค้างชำระแล้วแต่กรณี จนถึงขั้นถูกบอกเลิกสัญญา และดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งเมื่อถูกดำเนินคดีแล้ว สามารถขอไกล่เกลี่ยทำสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาลได้ และชำระหนี้เป็นรายเดือนได้อีก 9 ปี หรือแม้ว่าไม่ได้ไปศาล และศาลมีคำพิพากษาให้ชำระหนี้ทั้งหมด กองทุนยังได้ให้เวลาผ่อนชำระหนี้ตามคำพิพากษาอีกระยะหนึ่ง แต่หากผู้กู้ยืม หรือผู้ค้ำประกันไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด กองทุนมีความจำเป็นต้องสืบทรัพย์บังคับคดีตามกฎหมาย ฉะนั้น กองทุนจะมีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากเงินกู้ยืมเป็นเงินงบประมาณแผ่นดินที่มาจากภาษีของประชาชน" นายชัยณรงค์กล่าว

นายชัยณรงค์กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ในการติดตามหนี้ กยศ.จะติดตามจากผู้กู้ก่อน แต่ที่เกิดปัญหาผู้ค้ำประกันต้องรับผิดชอบมีหลายกรณี คือผู้กู้ยังไม่มีทรัพย์ ผู้กู้มีทรัพย์แต่ไม่จ่าย และไม่มีวินัยทางการเงิน นำเงินไปใช้อย่างอื่นมากกว่ามาใช้หนี้ จึงเกิดปัญหากับผู้ค้ำประกัน ขณะเดียวกันการติดตามหนี้ก็พบปัญหาว่าผู้กู้ปิดโทรศัพท์มือถือ และบางรายไม่อยู่ในถิ่นฐานเดิม ทำให้ติดตามไม่ได้


"ทั้งนี้ มีผู้ค้ำประกันให้นักเรียนหลายรายแบบครูวิภาจำนวนมาก คาดว่าน่าจะมีปัญหาแบบนี้เหมือนกัน ส่วนหนึ่งเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งปัจจุบันไม่ได้กำหนดจำนวนคนค้ำ และจำนวนเงิน แต่กรณีนี้ กยศ.จะมาพิจารณาปรับแนวทางในอนาคต กำหนดบุคคล และวงเงินต่อไป" นายชัยณรงค์กล่าว

ด้าน น.ส.วิภากล่าวว่า ที่ผ่านมาได้จ่ายหนี้แทนลูกศิษย์แล้ว 4 ราย โดยชำระหนี้ไปแล้ว 92,000 บาท เพราะได้รับหนังสือแจ้งให้ชำระหนี้ ส่วนอีก 17 ราย ยังไม่ได้รับหนังสือแจ้งจาก กยศ.มาก่อน มาทราบอีกทีก็ได้รับหมายศาลมีคำสั่งยึดทรัพย์แล้ว ทั้งที่ผ่านมาปฏิบัติตามมาตรการของ กยศ.มาตลอด ไม่ว่าจะเป็นการเข้ากระบวนการไกล่เกลี่ยหนี้ อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มีข่าวออกไป มีลูกศิษย์ติดต่อเข้ามา 2 ราย โทรศัพท์มาขอโทษที่ทำให้เดือดร้อน และบอกว่าจะไปปิดหนี้ กยศ.ที่เหลืออยู่ และจะผ่อนชำระหนี้ที่ครูจ่ายแทนไปให้เดือนละ 5,000 บาท แต่ก็ไม่มีหลักประกันอะไรว่าจะดำเนินการอย่างที่พูด เพราะเป็นแค่การคุยโทรศัพท์ ไม่มีหลักฐานยืนยัน



"แม้ กยศ.จะชะลอการบังคับคดีแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าคดีจะสิ้นสุด เพราะถ้าสืบทรัพย์ของเด็กมาไม่ได้ ก็จะวนมาที่ตัวเองอยู่ดี ท้ายสุดคนค้ำประกันรอเวลาเท่านั้น ถ้าเด็กมาจ่ายเงิน กยศ.ตรงเวลา ก็เป็นเรื่องดี ถ้าเด็กไม่จ่าย คนค้ำประกันเตรียมตัวรับหมายศาลได้เลย ขอบอกตรงนี้ว่า หากถูกยึดทรัพย์จริง ก็จะไปกู้เงินมานำทรัพย์ออก ไม่ยอมให้ขายทอดตลาดอย่างเด็ดขาด และหากเป็นไปได้ อยากเสนอให้การชำระหนี้ กยศ.ของผู้กู้ จ่ายในส่วนของผู้ค้ำประกันก่อน เพราะเรารับภาระมาก่อนหน้านี้แล้ว" น.ส.วิภา กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ครูต้องการฟ้องร้องไล่เบี้ยคืนจากลูกศิษย์หรือไม่ น.ส.วิภา กล่าวด้วยเสียงสั่นเครือว่า ขอฝากถึงลูกศิษย์ที่ได้ดูอยู่ในช่องทางไหนก็ตาม ทั้งคนที่ครูจ่ายหนี้แทน หรือยังไม่ได้จ่าย ด้วยความเป็นครู ไม่เคยอยากทำร้ายลูกศิษย์ ตนไม่อยากฟ้อง เพราะคือลูกศิษย์ แค่อยากให้มาคุยว่าจะใช้หนี้คืนอย่างไร ซึ่งคงไม่พูดอะไรมาก เพราะคำว่า คนดี ครอบคลุมหมดทุกอย่างในเรื่องของความซื่อสัตย์ สุจริต ความมีคุณธรรม และความรับผิดชอบ

นางเพ็ญรวี มาแสง โฆษกกรมบังคับคดี กล่าวว่า การติดตามหนี้ไม่ได้มีแค่การยึดทรัพย์เพียงวิธีการ เพราะก่อนจะถึงขั้นตอนนี้ จะมีกระบวนการการไกล่เกลี่ย ซึ่งกรมบังคับคดี และ กยศ.ได้ร่วมมือในการไกล่เกลี่ยเพื่อให้เจ้าหนี้ และลูกหนี้มาทำข้อตกลงร่วมกัน เพื่อให้เกิดการชำระหนี้ที่ลูกหนี้สามารถจ่ายได้



Cr:::matichon.co.th