“ใช้ทุกข์ ดับทุกข์” บทความธรรมะดีๆ โดยพระอาจารย์มานพ อุปสโม

คนเราทุกคนย่อมมีทั้งความสุขและทุกข์ปะปนกันไปในชีวิต แล้วแต่ว่าคนคนนั้นจะมีวิธีเสาะแสวงหาความสุขหรือหลีกเลี่ยงทุกข์ เหล่านั้นกันอย่างไร วันนี้เราจึงอยากเสนอวิธีการดับทุกข์ ของพระอาจารย์มานพ อุปสโม โดยใช้ทุกข์เพื่อดับทุกข์ เพื่อให้คุณได้พบกับหนทางแห่งความสุขในชีวิตได้มากขึ้น

ความทุกข์คืออะไร

ขบวนการของความทุกข์ หรือในเรื่องของความทุกข์ ที่เกิดขึ้นแก่ตัวเรานั้น สามารถดับได้ สามารถแก้ไขได้ ถ้าเราเข้าใจอุบายวิธีในการดับทุกข์ ก่อนอื่นเราต้องไปดูว่าทุกข์เกิดมาจากอะไร ความทุกข์ของบุคคลเรานั้น มีอยู่ด้วยกัน ๒ อย่าง คือ ทุกข์ทางกาย และทุกข์ทางใจ

ทุกข์ทางกาย

ถ้าเป็นความทุกข์เกิดขึ้นทางกายจะต้องแก้ไขด้วยการบำบัด แก้ไขกันตามสถานการณ์ อย่างเช่นทุกข์เกิดขึ้นจากดินฟ้าอากาศ หนาวเกินไปบ้าง ร้อนเกินไปบ้าง เราก็บำบัดทุกข์ด้วยเครื่องป้องกันหนาว ป้องกันความร้อน ทุกขเวทนาเกิดขึ้นบนร่างกาย เกิดขึ้นจากการเจ็บไข้ได้ป่วย เราก็ไปหาหมอเพื่อหายาบำบัด

ทุกข์ทางใจ

ทุกข์ทางใจเกิดมาจากอะไร ให้เราต้องเข้าใจก่อนเป็นอันดับแรก พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่า ทุกข์เกิดขึ้นจากการดำริถึง ตัวคิดถึง ตัวปรารภถึง เป็นสาเหตุทำให้ใจของเรานั้นเป็นทุกข์ ดำริถึงอะไร ดำริถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ทำให้ใจเป็นทุกข์ แล้วจะแก้ไขอย่างไร ถ้าไม่ต้องการให้ใจเป็นทุกข์ ก็หยุดดำริถึง การดำริถึง ก็คือการคิดถึงนั้นเอง


จะแก้ทุกข์ได้อย่างไร


การคิดใน 2 ลักษณะ คือ คิดในลักษณะน่ารักน่าพอใจ และคิดถึงในลักษณะไม่น่ารักไม่น่าชอบใจ ถ้าเราไม่คิด 2 อย่างนี้ ใจของเราจะไม่เป็นทุกข์ ถ้าเราวางใจเฉยได้ ใจก็ไม่เป็นทุกข์ การที่จะทำให้ใจเฉย พระพุทธเจ้าแสดงวิธีทำใจให้วางเฉยไว้ 2 วิธี ต่อไปนี้

วิธีที่ 1

ด้วยวิธีเราไม่เอาใจใส่ต่อสิ่งนั้น เบนเบี่ยงใจไปใส่ใจในสิ่งอื่น เช่น เขามาด่าเรา เราก็เบนเบี่ยงใจ ไม่ไปใส่ใจในเรื่องที่เขาด่า เขาชมเรา เราก็เบนเบี่ยงใจไม่ไปเอาใจใส่ในเสียงที่เขาชม โดยเอาใจไปกำหนดอย่างใดอย่างหนึ่งแทน
การทำใจให้หนักแน่น ด้วยการเอาจิตไปอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เพียงอย่างเดียว เมื่อจิตไปอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงอย่างเดียว จิตไม่รับรู้สิ่งต่างๆ หรือเรื่องอื่นๆ เรียกว่าจิตตั้งมั่น เป็นการฝึกจิตของตัวเราให้ตั้งมั่น การทำจิตให้ตั้งมั่นในสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงสิ่งเดียว นี้เรียกว่า สมาธิ
วิธีที่ 2
ฝึกใจให้รอบรู้เท่าทันใจ แล้วใจจะไม่เป็นทุกข์ ใจรู้สึกอย่างไร ให้เราตามดูใจจนเรารู้เท่าทัน เรียกว่าวิธีดูใจ
ทำได้ไหม การดูใจตัวเอง ขณะนี้มีใจไหม ใจเดียวหรือหลายใจ เราเป็นคนใจเดียวหรือหลายใจ จริงๆ แล้วเราไม่ได้มีใจเดียว แต่มีหลายใจ


ใช้ทุกข์ดับทุกข์ได้อย่างไร


องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ให้เราตามดูใจ เพื่อสกัดกั้นใจ ไม่ให้ดำริถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เรื่องใดเรื่องหนึ่งที่กำลังทำให้ใจเป็นทุกข์
หลักธรรม ในพระพุทธศาสนานั้น ท่านให้ใช้ทุกข์ดับทุกข์ โกรธดับโกรธ หงุดหงิดดับหงุดหงิด รำคาญดับรำคาญ ฟุ้งซ่านดับฟุ้งซ่าน หวาดกลัวดับหวาดกลัว หวาดระแวงดับหวาดระแวง น้อยใจดับน้อยใจ
เมื่อเรามีบุคคลที่เราคิดถึงแล้วเราเป็นทุกข์ บุคคลคนนั้นอยู่ข้างนอกตัวเรา แต่ใจของเราที่เป็นทุกข์นั้นเกิดขึ้นข้างใน พอเรามองดูใจที่กำลังเป็นทุกข์ข้างใน เราก็หยุดคิดถึงคนที่ทำให้ใจของเราเป็นทุกข์ข้างนอก เมื่อเราไม่คิดถึงคนคนนั้น ใจของเราก็เลยไม่เป็นทุกข์อีกต่อไป



ขณะที่ใจหงุดหงิด ใจรำคาญ ใจฟุ้งซ่าน ใจขัดเคือง ก็เหมือนกัน คิดถึงเรื่องที่ทำให้ใจหงุดหงิด ใจเลยหงุดหงิด พอดูใจที่หงุดหงิด ก็หยุดคิดถึงเรื่องที่ทำให้ใจหงุดหงิด ก็เลยหายหงุดหงิด
คิดถึงเรื่องที่ทำให้ใจฟุ้งซ่าน ใจก็เลยฟุ้งซ่าน พอมาดูความรู้สึกฟุ้งซ่านก็หยุดดำริถึงเรื่องที่ฟุ้งซ่าน เมื่อไม่ดำริถึงเรื่องที่ทำให้ใจฟุ้งซ่าน ก็เลยหายฟุ้งซ่าน

ในยามที่ใจหวาดกลัว เพราะไปคิดถึงเรื่องที่น่ากลัว เรื่องน่ากลัวนั้นอยู่ข้างนอก พอคิดถึงเรื่องที่น่ากลัวข้างนอก ก็เกิดความรู้สึกกลัวข้างใน พอดูความรู้สึกกลัวข้างใน ขณะนั้นก็ไม่ไปใส่ใจเรื่องที่น่ากลัวข้างนอก ก็เลยหายหวาดกลัว

ปัญหาใจของคนเรา เกิดจากใจดำริถึงเรื่องต่างๆ ที่ทำให้ใจมีปัญหา ท่านให้เราหยุดดำริถึงเรื่องต่างๆ ที่ทำให้ใจมีปัญหา ใจของเราก็จะไม่มีปัญหา ใจหมดปัญหาทุกข์ทางใจก็ไม่เกิด



ใช้ทุกข์ดับทุกข์ หมายถึง ให้เอาใจที่กำลังเป็นทุกข์มาดูใจที่กำลังเป็นทุกข์ เมื่อตามดูใจที่กำลังเป็นทุกข์ก็ไม่ไปดูเรื่องที่ทำให้ใจเป็นทุกข์ ใจของเราก็คลายออกจากความทุกข์ได้

แหล่งที่มา: สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ