น้ำในถ้ำมาจากไหน? “หมอหม่อง” อาจารย์แพทย์ ม.เชียงใหม่ ไขข้อสงสัยแล้ว!!!



จากกรณีเด็กและโค้ช 13 ชีวิต ติดอยู่ในถ้ำหลวง วนอุทยานขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังเร่งค้นหาผู้สูญหายให้ออกมาได้ปลอดภัยอย่างเร็วที่สุด ขณะที่คนไทยทั้งประเทศต่างติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดด้วยความเป็นห่วง และต่างส่งกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ทุกคนปฏิบัติหน้าที่ให้สำเร็จลุล่วง ซึ่งการค้นหาเป็นไปอย่างต่อเนื่องเป็นวันที่หกแล้ว





(28 มิ.ย.) ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Rungsrit Kanjanavanit ของ นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือ "หมอหม่อง" อาจารย์แพทย์โรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ไขข้อสงสัยของประชาชนจำนวนไม่น้อย ว่าน้ำในถ้ำมาจากไหน? โดยได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความ ระบุว่า...



"น้ำในถ้ำมาจากไหน
---
บ่อยครั้ง เวลาเราไปเที่ยวถ้ำ
เรามักพบว่า ที่ปากถ้ำ มีลำธารไหลออกมา
เราอาจสงสัยว่า ธารน้ำไหลมาจากไหน
ถ้ำบางถ้ำ นั้น แม่น้ำไหลทะลุผ่าน (ธารลอด)
แต่บางถ้ำ เราเห็นแต่ธารน้ำไหลที่ออกมา โดยไม่พบทางเข้า ไม่รู้ว่าต้นตอน้ำมาจากไหน
ความลับอยู่ ที่ลักษณะเฉพาะของเขาหินปูนที่เป็นแหล่งพบถ้ำครับ
เวลาเราไปเดินป่า ในเขาหินปูน
นักเดินป่าจะทราบดีว่าต้องขนน้ำติดตัวไปเองให้เพียงพอ จะไปหวังน้ำบ่อหน้าไม่ได้
ทั้งนี้เพราะ ลำธารหรือแหล่งน้ำ บนเขาหินปูน นั้นหายากมากๆ
เหตุเพราะ หินปูน นั้นเมื่อถูกน้ำฝนที่รวมตัวกับ CO2 ในดิน เกิดเป็นกรดคาร์บอนิค ก็จะกัดเซาะละลาย กลายเป็นโพรง เล็กใหญ่ ต่อเนื่องตามการไหลของน้ำได้โดยง่าย
น้ำฝนที่ตกบนเขา จึงไม่สามารถเก็บขังอยู่บนผิวพื้นภูเขา แต่ไหลซึมลงไปผ่าน ช่องโหว่ หรือ sink hole ที่มีอยู่มากมายลงไปสะสมในโพรงใต้ภูเขา ไหลออกมาเป็นธารน้ำที่หน้าปากถ้ำนั่นเอง
ฝนยิ่งตก น้ำก็ยิ่งซึมลงไปใต้ภูเขา ระดับน้ำในถ้ำก็จะสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงเป็นเรื่องน่ากลัวมากครับ
(ภาพจาก หนังสือของลูก Knowledge Encyclopedia สำนักพิมพ์ DK)"











ที่มา : FB@Rungsrit Kanjanavanit