รีบอ่านแล้วใช้สิทธิ์ รวมสารพัดสินเชื่อ-เงินกู้ ช่วยคนจนเฟส 2 !!

ไทยรัฐออนไลน์ย่อยข้อมูลมาให้เกี่ยวกับสารพัดความช่วยเหลือทางการเงิน สร้างอาชีพ เสริมรายได้ เงินกู้ พักชำระหนี้ ปลดหนี้นอกระบบ ช่วยเหลือคนจนเฟส 2…

เมื่อวันที่ 22 ม.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานไม่ว่ารัฐบาลจะสืบทอดอำนาจหรือไม่ การเลื่อนตั้งจะมีเมื่อไร เลื่อนออกไปนาวนานหรือไม่แค่ไหนก็เป็นอีกเรื่อง แต่ในมุมของปากท้องชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนแล้ว ทุกๆ วันยังคงต้องดิ้นรนต่อสู้ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ภายใต้รัฐบาลโดยการนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในอีกมุมหนึ่งก็ได้พยายามหามาตรการช่วยเหลือคนจนมาตลอด ขณะนี้ เข้าสู่มาตรการช่วยเหลือระยะ 2

ขณะเดียวกันวันนี้ เราจะโฟกัสเฉพาะในส่วนของมาตรการช่วยเหลือและสินเชื่อจากสถาบันการเงินของรัฐ ที่จะมีเข้ามาช่วยเหลือ ดังนี้

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส.

จะมีโครงการให้ความรู้เกษตรกร ลูกค้า ให้พัฒนาตนเอง พัฒนาอาชีพ เพิ่มรายได้ และลดภาระหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ พร้อมสารพัดสินเชื่อ คือ สินเชื่อชุมชนปรับเปลี่ยนการผลิตพัฒนาอาชีพของผู้มีรายได้น้อย โดยจะได้รับผลตอบแทนในรูปแบบของค่าเช่าที่ดิน ค่าจ้างแรงงานและปัจจัยการผลิตและชุมชนต้องนำรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตหลังหักค่าใช้จ่าย มาจัดสรรตอบแทนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ โดยกำหนดวงเงินสินเชื่อรวม 45,000 ล้านบาท ปล่อยให้กลุ่มละไม่เกิน 10 ล้านบาท

โครงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ พักชำระต้นเงิน 2 ปี ระหว่างพักชำระหนี้คิดอัตราดอกเบี้ย MRR นำต้นเงินไม่น้อยกว่า 50% มาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ หนี้ 50% แรกคิดดอกเบี้ยอัตรา MRR กำหนดชำระคืนไม่เกิน 7 ปี ปลอดการชำระต้นเงินไม่เกิน 2 ปีแรก ส่วนต้นเงินอีกไม่เกิน 50% หลังให้นำมาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ใหม่ หรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้พักไว้เมื่อชำระหนี้ได้ตามกำหนด ให้ลดดอกเบี้ยที่พักไว้ให้ครึ่งหนึ่ง

สินเชื่อเพื่อแก้ไขหนี้นอกระบบ ระยะที่ 3 วงเงิน 19,000 ล้านบาท แก่กลุ่มเป้าหมาย 300,000 ราย ให้วงเงินกู้ต่อรายไม่เกิน 100,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 3% ต่อปี ระยะเวลาชำระหนี้ เป็นรายเดือน รายไตรมาส หรือราย 6 เดือน หรือรายปี ด้วยสนับสนุนกองทุนหมู่บ้าน

โครงการสนับสนุนสินเชื่อกองทุนหมู่บ้านและสถาบันการเงินชุมชน เพื่อแก้ไขและป้องกันปัญหาหนี้นอกระบบ 1,000 แห่ง ซึ่งสมาชิกมีหนี้นอกระบบหรือมีค่าใช้จ่ายฉุกเฉินและจำเป็นในครัวเรือน 50,000 ราย โดยตั้งวงเงินกู้รวมวงเงินให้กู้รวมไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2561 ถึงวันที่ 31 มี.ค.2563 อัตราดอกเบี้ยเท่ากับ MLR

โครงการสนับสนุนสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน ระยะที่ 2 วงเงินสินเชื่อรวมไม่เกิน 10,000 ล้านบาท กรณีกู้ฉุกเฉิน วงเงินกู้ต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บ คิดดอกเบี้ยแบบ คงที่ ตามประเภทของหลักประกัน ดังนี้ 1. กรณีใช้บุคคลค้ำประกัน 1 คนค้ำประกันหนี้เงินกู้ คิดอัตรา 0.85% ต่อเดือน 2. กรณีใช้หลักประกันจำนองบางส่วนไม่ต่ำกว่า 50% ของวงเงินกู้ ร่วมกับการใช้บุคคลค้ำประกัน 1 คนเป็นประกันหนี้ คิดอัตรา 0.75% ต่อเดือน 3. กรณีใช้หลักประกันจำนองไม่ต่ำกว่า 100% ของวงเงินกู้คิดอัตรา 0.50% ต่อเดือน


ธนาคารออมสิน หรือ GSB

นอกจากสินเชื่อเพื่อธุรกิจแฟรนไชส์ ได้จัดสินเชื่อเพื่อขยายโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ให้มีเงินทุนประกอบอาชีพ หรือประกอบอาชีพเสริม วงเงินไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย ระยะเวลาชำระคืนตั้งแต่ 3-5 ปี อัตราดอกเบี้ย 0% ต่อเดือนในปีแรก จากนั้น ในปีที่ 2-5 อัตราดอกเบี้ย 0.75% ต่อเดือน โดยใช้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย. ค้ำประกัน

สินเชื่อสตรีทฟู้ดเพื่อให้มีเงินทุนหรือเงินทุนหมุนเวียนประกอบธุรกิจเพิ่มเติม ในวงเงินไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย อัตราดอกเบี้ย 0% ต่อเดือนในปีแรก ปีที่ 2-10 อัตราดอกเบี้ย 0.5-0.75% ต่อเดือน โดยหลักประกันประกอบไปด้วย บุคคล บสย. หลักประกันทางธุรกิจ และหลักทรัพย์ค้ำประกัน

สินเชื่อ GSB Homestay สำหรับสมาชิกของกลุ่มผู้ประกอบการโฮมสเตย์ ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และมีการรับรองมาตรฐานโฮมสเตย์ไทย ให้วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย อัตราดอกเบี้ย 0% ในปีแรก ปีที่ 2 เป็นต้นไป อัตรา 0.5-0.75% ต่อเดือน ตามประเภทหลักประกัน โดยหลักประกันประกอบไปด้วย บสย. และ/หรือ หลักทรัพย์ค้ำประกัน ระยะเวลาในการกู้สูงสุดไม่เกิน 7 ปี

นอกจากนี้ ธนาคารออมสินยังร่วมกับสถาบันการศึกษา จัดทำโครงการมหาวิทยาลัยประชาชน เป็นหลักสูตรอบรม พัฒนาอาชีพ สำหรับผู้มีรายได้น้อย ผู้ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐและประชาชนทั่วไป  โดยผู้ผ่านการอบรมจะได้รับใบรับรอง นำไปใช้เป็นหลักฐานยื่นขอสินเชื่อธนาคารออมสินได้

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจและเข้าเงื่อนไขการช่วยเหลือสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ธ.ก.ส. และ ธนาคารออมสิน.

อ่านเพิ่มเติม ลายแทงช่วยคนจนเฟส 2 โครงการสร้างงานผู้มีรายได้น้อย