ปวดท้องแบบไหน เป็นโรค “กระเพาะอาหารอักเสบ”

อาการปวดท้องสามารถเกิดขึ้นกับเราได้ทุกเมื่อ ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดท้องเล็กๆ อย่าง ปวดท้องเพราะท้องเสีย ปวดท้องเพราะท้องอืด หรือปวดท้องเพราะหิวข้าว แต่อาการปวดท้องก็มีอยู่หลายประเภทที่สามารถบ่งบอกได้ว่าอาการปวดท้องแบบไหน เป็นโรคอะไร โรคที่คนมักถึงทุกครั้งเมื่อมีอาการปวดท้อง ก็คงเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจาก “โรคกระเพาะอักเสบ” โรคนี้เป็นอย่างไร มีอาการปวดท้องแบบไหนที่บ่งบอกถึงโรคนี้ได้อย่างชัดเจน มาศึกษากัน

กระเพาะอาหารอักเสบ คืออะไร?
โรคกระเพาะอาหารอักเสบ หรือที่นิยมเรียกโดยทั่วไปว่าเป็นโรคกระเพาะ เกิดจากอาการอักเสบ หรือระคายเคืองเฉียบพลันของเยื่อบุในกระเพาะอาหาร เป็นเพราะชั้นเยื่อเมือกเคลือบกระเพาะอาหารที่เอาไว้ป้องกันกรดจากน้ำย่อยทำลายเยื่อบุในกระเพาะอาหารน้อยลง จากการที่กระเพาะอาหารอยู่ในภาวะอักเสบ จึงทำให้เยื่อบุกระเพาะอาหารถูกกรดทำลายจนมีแผลในกระเพาะอาหาร เกิดอาการอักเสบมากยิ่งขึ้น และทำให้เกิดอาการปวดแสบท้อง
โรคกระเพาะอาหารอักเสบ สามารถเป็นได้ทั้งแบบเฉียบพลัน สามารถหายได้ใน 1-2 สัปดาห์ หรืออักเสบเรื้อรังยาวนาน จนอาจกลายเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้

สาเหตุของโรคกระเพาะอาหารอักเสบ
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของโรคกระเพาะอาหาร แต่มีข้อสันนิษฐานหลายประการ เช่น
- การติดเชื้อแบคทีเรีย เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร หรือ เอช ไพโลไร (Helicobacter pylorior หรือ H. pylori) ซึ่งเป็นเชื้อที่พบได้ในอาหาร และน้ำดื่ม
- การรับประทานในกลุ่มยาต้านการอักเสบหรือยาแก้ปวด (Non-Steroidal Anti-Inflammatory Drugs: NSAIDs)
- การติดเชื้อราบางประเภท
- การสูบบุหรี่
- การดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ น้ำอัดลม
- ระบบภูมิคุ้มกันตนเองบกพร่องจากโรคบางชนิด เช่นโรคโครห์น (Crohn's disease) โรคซาคอยโดซิส (Sarcoidosis)
- ภาวะอักเสบเรื้อรังทางกระเพาะอาหารอื่นๆ
เป็นต้น

อาการของโรคกระเพาะอาหารอักเสบ
โดยทั่วไปแล้วอาการที่แสดงออกได้อย่างชัดเจน คืออาการปวดท้อง โดยลักษณะการปวดท้องจะแตกต่างจากการปวดท้องตามปกติ ได้แก่
  1. ปวดท้องส่วนบน (เหนือสะดือ) และอาจปวดร้าวไปถึงหลังได้
  2. ปวดท้องแบบจุกเสียด แน่นท้อง เรอบ่อย
  3. มักมีอาการปวดในช่วงก่อน หรือหลังรับประทานอาหาร ที่เรียกกันว่า หิวก็ปวด อิ่มก็ปวด
  4. อาจปวดท้องด้วย และมีอาการอื่นๆ ด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน อาหารไม่ย่อย
นอกจากนี้ ในบางรายยังอาจมีอาการอาเจียนเป็นเลือด ถ่ายเป็นเลือด หรือมีสีดำเข้มผิดปกติ ซึ่งเป็นอาการที่ค่อนข้างหนัก ควรรีบพบแพทย์ทันที

การรักษาโรคกระเพาะอาหารอักเสบ
แพทย์อาจพิจารณาก่อนว่ามีอาการหนักมากน้อยแค่ไหน จากนั้นถึงพิจารณาวิธีการรักษา อาจให้ยาปฏิชีวนะ เช่น ยาคลาริโธรมัยซิน (Clarithromycin) ยาอะมอกซิซิลลิน (Amoxicillin) หรือยาเมโทรนิดาโซล (Metronidazole) เพื่อช่วยในการการฆ่าเชื้อ ในกรณีที่ตรวจพบว่าเป็นการอักเสบจากการติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อย
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่เป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบจากสาเหตุอื่นๆ แพทย์อาจให้การรักษาตามอาการแบบประคับประคองให้อาการของผู้ป่วยค่อยๆ ดีขึ้นทีละอย่าง เช่น ให้ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร รักษาแผลในกระเพาะอาหาร หรือผู้ที่เป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง อาจต้องหยุดการทานยาแก้ปวด และเปลี่ยนตัวยาเป็นตัวอื่นที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกันแทน
นอกจากนี้ยังอาจขอให้ลดพฤติกรรมที่อาจทำให้อาการแย่ลง เช่น ลดการดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน และงดการสูบบุหรี่ เป็นต้น

อันตรายจากภาวะแทรกซ้อนของโรคกระเพาะอาหารอักเสบ
หากปล่อยให้อาการของโรคกระเพาะอาหารอักเสบแย่ลง อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายต่อร่างกายได้ เช่น ภาวะเลือดออกในกระเพาะอาหาร และกระเพาะอาหารอุดตัน ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยมีอันตรายจนถึงชีวิตได้

การป้องกันโรคกระเพาะอาหารอักเสบ
  1. รักษาสุขอนามัยต่ออาหาร น้ำดื่ม รวมไปถึงภาชนะบรรจุอาหาร และมือที่หยิบจับอาหารให้สะอาด เพื่อลดการติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร ที่มักพบได้จากการปะปนในอาหาร และน้ำดื่ม
  2. หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่กระตุ้นให้กระเพาะอาหารมีความเสี่ยงต่อการอักเสบ เช่น ดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน สูบบุหรี่ และภาวะเครียด เป็นต้น
  3. ไม่ควรซื้อยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบทางเดินอาหารหรือยาในกลุ่มลดอาการปวดรับประทานเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ เภสัชกร หรือพยาบาล
  4. ทานอาหารปรุงสุก ในปริมาณที่ไม่มาก และไม่น้อยเกินไป
  5. ไม่ทานอาหารรสจัดมากจนเกินไป หรือทานอาหารรสจัดติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะอาจทำให้กระเพาะอาหารผลิตน้ำย่อยออกมามากเกินไป จนเกิดอาการระคายเคืองเยื่อบุกระเพาะอาหารได้
ขอขอบคุณ
ภาพ :iStock