หลายคนยังไม่รู้ เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต “รักษาฟรี” เพียงแค่ทำตามนี้

UCEP คืออะไร 

UCEP คือ นโยบายรัฐบาล “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” Universal Coverage for Emergency Patients (UCEP) กรณีเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนนอกคู่สัญญา 3 กองทุน(กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า, กองทุนประกันสังคม กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ) และในอนาคตจะขยายไปยังกองทุนต่างๆ เพื่อให้เกิดความครอบคลุม ไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตอันจะทําให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตได้รับ การคุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงบริการ อย่างปลอดภัยโดยไม่มีเงื่อนไขในการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาล เพื่อให้ไม่เป็นอุปสรรคและความเสี่ยงของการดูแลรักษา โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายภายใน 72 ชั่วโมงหรือพ้นภาวะวิกฤต

นโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่”

การเข้าถึงบริการการแพทย์และสาธารณสุขในปัจจุบัน ผู้ป่วยต้องเข้ารับบริการ ตามสถานพยาบาลของรัฐหรือเอกชนคู่สัญญาที่กองทุนตามสิทธิการรักษากำหนดไว้ แต่พบว่ามีผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตบางรายไม่สามารถเข้ารับบริการสถานพยาบาลตามที่กองทุนตามสิทธิการรักษากำหนดให้ได้ เนื่องจากจุดเกิดเหตุกับสถานพยาบาลอยู่ไกลกัน หรืออาจอยู่ใกล้กับสถานพยาบาลที่กองทุนตามสิทธิการรักษากำหนด แต่สถานพยาบาลนั้นไม่มีศักยภาพในการรักษาเฉพาะโรค ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องเข้ารักษาพยาบาลที่สถานพยาบาลเอกชนนอกคู่สัญญาของกองทุนตามสิทธิการรักษา และเมื่อเข้ารักษาสถานพยาบาลเอกชนแล้ว ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตไม่ได้รับความคุ้มครอง หรือได้รับความคุ้มครองเพียงบางส่วน ซึ่งจากปัญหาดังกล่าวทำให้ผู้ป่วยเกิดความเหลื่อมล้ำของสิทธิการรักษา อันจะส่งผลให้ผู้ป่วยไม่ได้เข้าถึงบริการการแพทย์ได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที เสี่ยงต่อการเสียชีวิตหรือพิการได้

จากปัญหาดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันหาทางแก้ไขปัญหา ปรับเปลี่ยนนโยบายและแนวทางปฏิบัติในการคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยกำหนดเป็นนโยบายใหม่ภายใต้แนวคิด “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการรักษาพยาบาลของประชาชนในกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต สามารถเข้ารักษาที่โรงพยาบาลของรัฐและเอกชนได้ทุกแห่ง เพื่อให้เข้าถึงบริการด้านการแพทย์อย่างรวดเร็วและปลอดภัย ไม่มีเงื่อนไขในการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาล ซึ่งเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงบริการการแพทย์ และเพื่อให้นโยบายดังกล่าวดำเนินการได้เป็นรูปธรรม จึงได้แก้ไขพระราชบัญญัติ
สถานพยาบาล โดยออกเป็นพระราชบัญญัติสถานพยาบาล (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2559 ซึ่งเมื่อพระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลบังคับใช้ รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการสถานพยาบาลจึงได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 3 ฉบับ ดังนี้

  1. ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดผู้ป่วยฉุกเฉิน

  2. ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ป่วยฉุกเฉินการระดมทรัพยากรและมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือเยียวยา และการจัดให้มีการส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลอื่น

  3. ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต

จากนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” ที่รัฐบาลกำหนดนั้น เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการปฏิบัติงานด้านการแพทย์ฉุกเฉินร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน คณะกรรมการแพทย์ฉุกเฉินจึงได้มอบหมายให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ทำหน้าที่บริหารจัดการการแพทย์ฉุกเฉินทั้ง สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติจึงได้จัดตั้งศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (ศคส.สพฉ.) ขึ้น เพื่อดำเนินการประสานงานทุกภาคส่วนในการดำเนินงานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ให้ปรึกษาการประเมินเพื่อคัดแยกระดับความฉุกเฉิน ตลอดจนดำเนินการรับเรื่องอุทธรณ์การคัดแยกระดับความฉุกเฉิน และรับเรื่องร้องเรียนกรณีไม่ได้รับความคุ้มครองตามสิทธิที่รัฐบาลกำหนด ทั้งนี้ผู้ป่วยที่จะได้รับความคุ้มครองต้องเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินเข้าข่ายวิกฤตที่เกิดขึ้นนอกโรงพยาบาล และมีอาการ ดังนี้

  1. หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ

  2. หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง

  3. ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น หรือมีอาการชักร่วม

  4. เจ็บหน้าอกเฉียบพลันรุนแรง

  5. แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัด แบบปัจจุบันทันด่วน หรือชักต่อเนื่องไม่หยุด

  6. มีอาการอื่นร่วมที่มีผลต่อการหายใจระบบการไหลเวียนโลหิตและระบบสมองที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต

หลักเกณฑ์การประเมินอาการเพื่อคัดแยกระดับความฉุกเฉิน

โดยการคัดแยกได้แบ่งกลุ่มอาการออกเป็น 25 กลุ่มอาการ และนำเกณฑ์การคัดแยกตามคู่มือแนวทางการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เกณฑ์และวิธีปฏิบัติการคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินและจัดลําดับการบริบาล ณ ห้องฉุกเฉินตามหลักเกณฑ์ที่กพฉ. กําหนด เพื่อให้การประเมินอาการมีความครอบคลุมภาวะฉุกเฉินให้มากที่สุด

กลุ่มอาการ

การประเมินอาการเพื่อคัดแยกระดับความฉุกเฉินได้แบ่งกลุ่มอาการเป็น 2 หมวด คือ หมวดกลุ่มอาการป่วยฉุกเฉิน (Non trauma) 20 กลุ่มอาการ และหมวดการบาดเจ็บฉุกเฉิน (Trauma) 5 กลุ่มอาการ รายละเอียด ดังนี้

หมวดกลุ่มอาการป่วยฉุกเฉิน (Non trauma) 20 กลุ่มอาการ

  1. ปวดท้อง/หลัง/เชิงกรานและขาหนีบ

  2. แพ้ยา/แพ้อาหาร/แพ้สัตว์ต่อย/แอนาฟิแล็กซิส/ปฏิกิริยาภูมิแพ้

  3. สัตว์กัด

  4. เลือดออก (ไม่มีสาเหตุจากการบาดเจ็บ)

  5. หายใจลำบาก/ติดขัด

  6. หัวใจหยุดเต้น

  7. เจ็บแน่นทรวงอก/หัวใจ/มีปัญหาทางด้านหัวใจ

  8. สำลัก/อุดกั้นทางเดินหายใจ

  9. เบาหวาน

  10. ภาวะฉุกเฉินเหตุสิ่งแวดล้อม

  11. เว้นว่าง

  12. ปวดศีรษะ/ภาวะผิดปกติทางตา/หู/คอ/จมูก

  13. คลุ้มคลั่ง/ภาวะทางจิตประสาท/อารมณ์

  14. พิษ/รับยาเกินขนาด

  15. มีครรภ์/คลอด/นรีเวช

  16. ชัก/มีสัญญาณบอกเหตุการชัก

  17. ป่วย/อ่อนเพลีย/อัมพาตเรื้อรัง/ไม่ทราบ ไม่จำเพาะ/อื่นๆ

  18. อัมพาต(กำลังกล้ามเนื้ออ่อนแรง/สูญเสียการรับความรู้สึก/ยืนหรือเดินไม่ได้) เฉียบพลัน

  19. ไม่รู้สติ/ไม่ตอบสนอง/หมดสติชั่ววูบ

  20. เด็ก (กุมารเวชกรรม)

    หมวดการบาดเจ็บฉุกเฉิน (Trauma) 5 กลุ่มอาการ

  21. ถูกทำร้ายร่างกาย

  22. ไหม้/ลวกเหตุความร้อน/สารเคมี/ไฟฟ้าช๊อต

  23. ตกน้ำ/จมน้ำ/หน้าคว่ำจมน้ำ/บาดเจ็บเหตุดำน้ำ/บาดเจ็บทางน้ำ

  24. พลัดตกหกล้ม/อุบัติเหตุ/เจ็บปวด

  25. อุบัติเหตุยานยนต์

รายละเอียดเพิ่มเติม  สามารถติดต่อขอข้อมูลได้ที่ pr@niems.go.th

อ้างอิง : สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ

เรียบเรียงโดย Every Thinks