www.คนละครึ่ง.com ร้านค้าเข้าร่วมโครงการ ขายของวันนี้ ได้เงินวันไหน มีคำตอบ

 

ไขข้อข้องใจ ร้านค้าเข้าร่วมโครงการ www.คนละครึ่ง.com ขายของวันนี้ ได้เงินวันไหน กระทู้นี้มีคำตอบ แบ่งเป็น 2 ส่วนด้วยกัน และได้ไม่พร้อมกันด้วย


คนละครึ่ง
ภาพจาก ParkManU / Shutterstock.com

           เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2563 หลังจากที่โครงการ www.คนละครึ่ง.com เปิดให้ผู้ประกอบการลงทะเบียนตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา และปัจจุบันนี้ ก็ได้เปิดให้เริ่มใช้งานได้อย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม ร้านค้าหลายร้านที่อยู่ในโครงการ ก็ยังมีข้อสงสัยบางส่วนคือ ถ้าเราซื้อของกันวันนี้ แล้วร้านค้าจะได้รับเงินจริง ๆ วันไหน ซึ่งทางหน่วยงานก็ได้ชี้แจงแล้ว ดังนี้

คนละครึ่ง
ภาพจาก คนละครึ่ง

           เงินที่ได้รับโอนจากโครงการคนละครึ่ง จะแบ่งเป็น 2 ส่วนด้วยกัน คือ

           1. ส่วนที่ประชาชนชำระ ทางร้านค้าจะได้รับทุกสิ้นวัน ตั้งแต่เวลา 02.00 - 06.00 น. จะทยอยโอนให้เรื่อย ๆ และได้ครบทุกร้านค้า

           เช่น คนมาซื้อของวันจันทร์ 300 บาท เงินในส่วนที่ประชาชนจ่ายเอง 150 บาท  จะเข้าวันอังคาร ช่วง 02.00-06.00 น. ซื้อของวันเสาร์ เงินเข้าวันอาทิตย์ ซื้อของวันอาทิตย์ เงินเข้าวันจันทร์ ซื้อในวันหยุดนักขัตฤกษ์ เงินเข้าวันถัดไป **ย้ำว่าจุดนี้ใช้ได้กับเงินครึ่งหนึ่งของส่วนที่ประชาชนจ่ายเองเท่านั้น**

คนละครึ่ง

           2. ส่วนภาครัฐชำระ ทางร้านจะได้รับในวันทำการถัดไป เช่น ขายของวันจันทร์ ก็จะได้รับวันอังคาร เหมือนกับส่วนที่ประชาชนชำระทุกประการ แต่ถ้าเป็นวันเสาร์-อาทิตย์ ก็จะได้รับเงินในวันจันทร์ ส่วนวันหยุดนักขัตฤกษ์ จะได้รับเงินในวันทำการถัดไป ส่วนเวลาที่โอนนั้น ตั้งแต่เวลา 17.30 - 19.00 น.

           สรุปง่าย ๆ คือ หากเป็นการทำรายการในวันธรรมดา คุณจะได้รับเงินเต็มจำนวนในวันทำการถัดไป แต่หากเป็นการทำรายการในวันเสาร์-อาทิตย์ คุณจะได้รับเงินครึ่งหนึ่งก่อนในวันทำการถัดไป ส่วนที่เหลืออีกครึ่งจะได้รับในวันจันทร์ และหากเป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์ ก็ได้รับเงินในวันทำการถัดไปเช่นกัน

คนละครึ่ง
ภาพจาก คนละครึ่ง

           ด้านเฟซบุ๊ก สถานีข่าวกระทรวงการคลัง : Ministry of Finance News Station นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ณ วันที่ 26 ตุลาคม ที่ผ่านมา มียอดใช้จ่ายสะสม 704.5 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินประชาชนจ่าย 362.5 ล้านบาท และภาครัฐจ่าย 342 ล้านบาท ยอดเฉลี่ยการใช้จ่าย 232 บาทต่อครั้ง ส่วนจังหวัดที่มีการจ่ายมากที่สุด 3 ลำดับแรกคือ กรุงเทพมหานคร, สงขลา และนครศรีธรรมราช

           ส่วนการโอนเงิน ภาครัฐได้จ่ายให้ร้านค้าจำนวน 96,359 ร้านค้าแล้ว มีจำนวน 212 ล้านบาท

คนละครึ่ง