ในขณะที่ภารกิจค้นหาทีมฟุตบอลหมู่ป่าอะคาเดมีแม่สาย 13 ชีวิต ที่ติดอยู่ภายในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน กำลังดำเนินไป โทบี ลัคเฮิร์สต์ ผู้สื่อข่าวบีบีซี เล่าถึงเทคนิคต่าง ๆ ที่จะช่วยให้ผู้ประสบภัยติดถ้ำเอาชีวิตรอดได้
ระวังน้ำท่วม
นายอันมาร์ เมอร์ซา ผู้ประสานงานคณะกรรมาธิการการช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ติดถ้ำแห่งสหรัฐฯ (US National Cave Rescue Commission) บอกว่าสิ่งแรกที่ต้องคำนึงถึงคืออันตรายใกล้ตัว หินที่อาจตกใส่เป็นความเสี่ยงหนึ่ง แต่สิ่งที่น่ากังวลมากคือระดับน้ำที่อาจสูงขึ้นจนท่วมได้
"คุณต้องหาจุดที่สูงที่สุดในถ้ำ" นายเมอร์ซา เล่า และแนะนำว่าให้ลองหาว่าระดับน้ำในถ้ำเคยสูงสุดแค่ไหนโดยสังเกตจากร่องรอยใบไม้หรือรอยโคลนบนผนังถ้ำ
จากนั้นให้ค่อย ๆ เช็คดูว่าจะมีเสบียงอะไรอยู่บ้าง และอาจจะต้องเริ่มแบ่งสรรปันส่วนอาหาร น้ำ หรือแม้กระทั่งแสงไฟที่เหลืออยู่
ทำตัวให้อบอุ่น
นายเมอร์ซาบอกว่า ความเสี่ยงแรกคือภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติ โดยสิ่งที่จะช่วยได้คือการบิดเสื้อผ้าให้แห้งและนั่งรวมตัวอยู่ใกล้ ๆ กันเพื่อความอบอุ่น
นายแอนดี อีวิส อดีตประธานองค์กรสำรวจถ้ำแห่งสหราชอาณาจักร บอกว่า ด้วยสภาพอากาศในเมืองไทยอาจทำให้เรื่องอุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติไม่ใช่ปัญหาใหญ่สำหรับผู้ที่กำลังติดอยู่ในถ้ำหลวงในเวลานี้
ในวัย 70 นายอีวิส สำรวจถ้ำมาเป็นเวลา 50 ปี รวมถึงในไทย เมียนมา และจีน แต่ไม่เคยสำรวจถ้ำที่ทีมฟุตบอลหมู่ป่าอะคาเดมีแม่สาย 13 ชีวิต กำลังติดอยู่ แต่เขาบอกว่าถ้ำหลายแห่งมีขนาดใหญ่มากถึงขั้นที่ว่าเครื่องบินทั้งลำสามารถเข้าไปจอดได้ และเขาไม่คิดว่าน้ำจะท่วมจนถึงเพดานถ้ำ
"ถ้าพวกเขานั่งอยู่บนที่แห้ง ๆ ก็จะไม่เสียชีวิตจากภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติ" นายอีวิสกล่าวพร้อมกับเล่าว่าเขาและเพื่อนนักสำรวจอีกสองคนเคยติดอยู่ในถ้ำในเทือกเขาเพียร์เรอนีส (Pyrenees) ในยุโรป ซึ่งน้ำมีอุณหภูมิราว 2 องศาเซลเซียส
"เราติดกันอยู่ในนั้น 55 ชั่วโมง แต่โชคดีที่เราใส่ชุดดำน้ำเต็มตัว (wetsuit)" นายอีวิส กล่าว
น้ำ
นอกจากความอบอุ่นแล้ว นายเมอร์ซาบอกว่าสิ่งที่ควรคำนึงต่อไปคือ น้ำ
"ให้ร่างกายมีน้ำเพียงพอ แต่ก็ต้องระวังน้ำที่สกปรกในถ้ำ" นายเมอร์ซา กล่าว "ต้องพยายามสร้างความสมดุลให้ได้ อาการท้องร่วงและการอาเจียนจะยิ่งทำให้ภาวะขาดน้ำเป็นปัญหาใหญ่ในภายหลัง"
แต่นายอีวิสบอกว่า ถึงแม้น้ำจะสกปรก มันก็จะไม่ได้ทำให้เกิดปัญหาแบบทันทีทันใด เขาบอกว่าน้ำในถ้ำส่วนใหญ่พอดื่มได้ แต่ก็อาจจะทำให้ท้องไส้ปั่นป่วนบ้างเท่านั้นเอง
นายบิล ไวท์เฮาส์ อดีตประธานคณะกรรมการเพื่อการช่วยเหลือผู้ประสบภัยติดถ้ำแห่งสหราชอาณาจักร แนะนำให้หาแหล่งน้ำตามจุดต่าง ๆ ในถ้ำ โดยหยดน้ำที่ไหลตามมุมต่าง ๆ หรือร่องน้ำ อาจจะเป็นแหล่งน้ำที่สะอาดกว่า อย่างไรก็ตาม เขาบอกว่าในระยะยาว อาหารคือปัญหาใหญ่ โดยนายเมอร์ซาบอกว่าต้องไม่กินอาหารที่มีอยู่ ทีเดียวจนหมด
อากาศ
ออกซิเจนก็เป็นปัจจัยหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญทั้งสามคนบอกว่ามันไม่ใช่ปัญหาร้ายแรงอย่างที่คนทั่วไปคิด
"ถ้ำส่วนใหญ่มีอากาศถ่ายเทอยู่ตลอด อากาศสามารถเดินทางเข้าออกจากที่ที่คนออกมาไม่ได้" นายเมอร์ซา กล่าว
ระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อาจเพิ่มสูงขึ้นได้หากผู้ประสบภัยติดอยู่ในที่แคบนาน ๆ แต่นายไวท์เฮาส์ บอกว่า โดยทั่วไปแล้ว เป็นปกติที่ระดับออกซิเจนจะต่ำในถ้ำ แต่ก็จะไม่ต่ำจนเป็นอันตราย
ความเครียด
คุณอาจจะมีเสบียงเพียงพอที่จะเอาชีวิตรอด แต่การทำจิตใจให้สงบในที่มืดเป็นเรื่องยาก นายไวท์เฮาส์บอกว่า การสำรวจถ้ำเป็นกิจกรรมที่คนไม่ชอบก็เกลียดไปเลย
"อย่าตื่นตระหนก" นายอีวิส กล่าว "การตื่นตระหนกและพยายามจะหนีออกไปให้ได้ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไรก็ตามเป็นความเสี่ยงสูงสุด"
สำหรับเด็กชาวไทยที่ติดอยู่ในถ้ำขณะนี้ ความกดดันจะตกอยู่ที่ใครก็ตามที่เป็นหัวหน้าทีมที่มีหน้าที่ห้ามไม่ให้พวกเขากระโดดลงน้ำ ซึ่งอาจเป็นอันตรายได้
ในขณะที่นักสำรวจมืออาชีพมีไฟสำรองอยู่กับตัวที่สามารถใช้ได้เป็นร้อย ๆ ชั่วโมง นายไวท์เฮาส์บอกว่านี่อาจเป็นปัญหาสำหรับเด็ก ๆ เหล่านี้ซึ่งไม่ได้มีอุปกรณ์เพียงพอ
คำแนะนำสำหรับนักสำรวจถ้ำมือใหม่
เป็นกฎเลยว่าคุณต้องเตรียมพร้อมเสมอเวลาจะเข้าไปสำรวจถ้ำ นายไวท์เฮาส์บอกว่า คุณต้องรู้ข้อมูล มีอุปกรณ์ที่เหมาะ และไปกับคนที่เชี่ยวชาญเส้นทางในถ้ำนั้น ๆ และสิ่งสำคัญอีกอย่างคือ ต้องบอกแจ้งใครสักคนเวลาคุณจะเข้าไปในถ้ำเสมอ นายไวท์เฮาส์บอกว่า ยิ่งมีการแจ้งเหตุเร็วเท่าไหร่การช่วยเหลือก็จะเริ่มต้นได้เร็วเท่านั้น
Cr::: BBC THAI