14 มีนาคม วันไวท์เดย์ ของญี่ปุ่น วันแห่งการตอบแทนจากผู้ชาย ที่สาว ๆ เฝ้ารอ

14 มีนาคม วันไวท์เดย์ (White Day) ของประเทศญี่ปุ่น วันแห่งการตอบแทนที่ผู้ชายจะมอบแก่สาว ๆ หลังได้รับของขวัญสื่อรักจากวันวาเลนไทน์ จะรับรักหรือจะเท วันนี้เขาจะให้คำตอบ

           หากจะพูดถึงวันพิเศษในเดือนแห่งความรักอย่างเดือนกุมภาพันธ์แล้ว ก็คงจะหนีไม่พ้นวันที่ 14 กุมภาพันธ์ วันวาเลนไทน์ ที่เราจะได้ส่งต่อความรักให้แก่กัน นำของขวัญเล็ก ๆ จากใจ หรือดอกไม้ ช็อกโกแลต มอบให้แก่คนที่เรารักในวันแห่งความรักนี้ อย่างไรก็ตามสำหรับบางวัฒนธรรม ช่วงเวลาแห่งความหวานยังไม่จบลงเพียงเท่านี้ ดังเช่นในประเทศญี่ปุ่น ที่นอกจากจะมีวันวาเลนไทน์ให้สาว ๆ ได้นำช็อกโกแลตหรือของแทนใจให้หนุ่ม ๆ แล้ว ก็ยังมี "วันไวท์เดย์" (White Day) อันเป็นช่วงเวลาที่หนุ่ม ๆ จะมอบสิ่งของตอบแทนแก่สาว ๆ ด้วย

           วันไวท์เดย์ ในประเทศญี่ปุ่น

           สำหรับ วันไวท์เดย์ ในประเทศญี่ปุ่น ตรงกับวันที่ 14 มีนาคม หรือช่วงเวลา 1 เดือนหลังจากวันวาเลนไทน์ โดยเป็นวันที่ผู้ชายจะมอบของตอบแทน แก่ผู้หญิงที่ให้ช็อกโกแลตหรือของขวัญแก่ตัวเองมาในวันวาเลนไทน์ ซึ่งมีธรรมเนียมอยู่ว่าของตอบแทนวันไวท์เดย์นี้ ควรจะต้องมีมูลค่ามากกว่าของที่ได้รับมาจากผู้หญิง 3 เท่า ซึ่งของที่ผู้ชายนิยมซื้อมาให้แก่ผู้หญิงในวันไวท์เดย์ ก็มักจะเป็น มาร์ชเมลโล่ คุกกี้ ลูกกวาด รวมถึงขนมอย่างอื่นอย่าง ไวท์ช็อกโกแลต หรืออาจจะเป็นของขวัญที่มีมูลค่ามากขึ้นจำพวกเครื่องประดับก็ได้

14 มีนาคม วันไวท์เดย์ ของญี่ปุ่น

           วันไวท์เดย์ ที่มาของวันที่สาว ๆ รอคอย

           จุดกำเนิดของวันไวท์เดย์นั้น เริ่มต้นขึ้นจากแผนการตลาดของอุตสาหกรรมขนมในประเทศญี่ปุ่น โดยเมื่อปี 1977 บริษัทขนม อิชิมุระ มันเซโดะ (Ishimura Manseido) ในจังหวัดฟุกุโอกะ ได้ทำแผนการตลาดเพื่อขายมาร์ชเมลโล่ให้ลูกค้าผู้ชาย ในวันที่ 14 มีนาคม และเรียกวันดังกล่าวว่า "วันมาร์ชเมลโล่" (Marshmallow Day) อย่างไรก็ตามวันดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จนัก ทำให้อุตสาหกรรมขนมหวานแห่งชาติ ตัดสินใจจัดตั้ง "วันไวท์เดย์" ขึ้นครั้งแรกในปี 1978 เพื่อให้เป็นเหมือนกับวันที่จะให้คำตอบแก่สาว ๆ ที่มอบของขวัญกับช็อกโกแลตให้ตัวเองในวันวาเลนไทน์ รวมถึงเป็นการตอบแทนพวกเธอด้วย

           ทั้งนี้สาเหตุที่สีขาวถูกเลือกมาเป็นชื่อของวันนี้ เพราะเป็นสีแห่งความบริสุทธิ์ ที่สะท้อนถึงความรักวัยแรกรุ่นอันบริสุทธิ์ และยังเป็นสีของเกล็ดน้ำตาลขาว ๆ ด้วย

           วันไวท์เดย์ กับของขวัญที่แฝงความหมาย

           หากจะพูดถึงประเพณีการให้ช็อกโกแลตในวันวาเลนไทน์ของประเทศญี่ปุ่นแล้ว ค่อนข้างจะมีความแตกต่างจากประเทศอื่น เพราะที่นี่สาว ๆ จะแบ่งช็อกโกแลตที่จะให้แก่ผู้ชายเป็น 2 แบบ คือ กิริ-ช็อกโก (giri-choko) หรือช็อกโกแลตตามมารยาท ที่จะมอบให้แก่ครอบครัว เพื่อนร่วมงาน หรือเพื่อนร่วมชั้นเรียน และ ฮงเมอิ-ช็อกโก (honmei-choko) อันเป็นช็อกโกแลตที่จะมอบให้แก่คนที่ชอบหรือรัก ให้ช็อกโกแลตทำหน้าที่เป็นสื่อแทนความในใจ

14 มีนาคม วันไวท์เดย์ ของญี่ปุ่น

           ในเมื่อขนาดช็อกโกแลตเองก็ยังมีความหมายแฝง ดังนั้นคงไม่แปลกที่ของตอบแทนวันไวท์เดย์จากหนุ่ม ๆ จะแฝงไว้ด้วยความหมาย ที่เป็นเสมือนการให้คำตอบแก่สาว ๆ ผู้มอบ ฮงเมอิ-ช็อกโก แก่พวกเขาเช่นกัน ว่าเขาจะรับรักเธอหรือไม่

           นอกเหนือจากของขวัญจำพวกพวกเครื่องประดับ ที่หากไม่ใช่หวานใจตัวจริงก็คงจะไม่ได้รับแล้ว ของตอบแทนวันไวท์เดย์ที่พบเห็นได้ทั่วไป 3 อย่าง มักจะมีความหมายดังนี้
           1. มาร์ชเมลโล่ : "ผมขอโทษ ผมไม่สนใจคุณ" เรียกว่าหากสาว ๆ คนไหนได้รับมาร์ชเมลโล่ในวันไวท์เดย์นี้ มีอันต้องช้ำสุด ๆ กับการปฏิเสธโดยไม่ต้องใช้คำพูดนี้

14 มีนาคม วันไวท์เดย์ ของญี่ปุ่น

           2. คุกกี้ : "คุณเป็นเพื่อนที่ดีของผม" เป็นการปฏิเสธแบบเบา ๆ ซอฟต์ ๆ อารมณ์เหมือนที่เป็นแบบนี้ก็ดีอยู่แล้ว

14 มีนาคม วันไวท์เดย์ ของญี่ปุ่น

           3. ลูกกวาด : "ผมรักคุณ" สาว ๆ คนไหนได้รับลูกกวาดแสนหวานจากหนุ่ม ๆ ในวันไวท์เดย์มีอันต้องยิ้มกว้าง เพราะลูกกวาดแสนหวานที่ยังทิ้งความหวานไว้ในปากหลังอมนี้ เป็นเหมือนตัวแทนของความรัก หรือพูดง่าย ๆ ว่าเขารับรักเธอแล้ว และยินดีที่จะคบกันนั่นเอง


ข้อมูลจาก transparent.com, diffen.com, japan-zone.com